Page 116 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 116
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 115
พิเศษ หรือในอีกแง่หนึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมในยุคนั้นหรือแม้แต่ปัจจุบันยังคงยอมรับอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่
หรือปิตาธิปไตยอย่างแนบแน่น ส่วนเบญจวรรณ ฉัตระเนตร (2518) กล่าวถึงความเจ้าชู้ของไกรทองไว้
เช่นเดียวกัน แต่กล่าวถึงข้อเสียไว้ด้วยว่า ไกรทองมีภรรยามากทําให้ขาดความสงบสุขในครอบครัว การมี
ภรรยาหลายคนของไกรทองเป็นค่านิยมของสังคมไทย ว่าการเป็นนักเลงเจ้าชู้จะเป็นที่เลื่องลือสืบไป
กล่าวได้ว่าสังคมได้ยอมรับแนวคิดว่าผู้ชายเจ้าชู้จะเป็นที่น่านับถือและเลื่องลือไกล เนื่องจากสามารถ
แสดงความเป็นชายได้อย่างสมบูรณ์และยังแสดงความสามารถในการบริหารเมียทั้งหลายให้อยู่ร่วมกันได้อีก
ด้วย ค่านิยมของไกรทองจึงเป็นผลผลิตจากค่านิยมของสังคมไทยอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากสังคมไทยปลูกฝังให้
ผู้ชายไทยเชื่อว่าการมีเมียหลายคนหรือเจ้าชู้นั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่องหรือเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมี
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ยอมรับการสร้างความรุนแรงแก่ผู้หญิง
นอกจากนี้ยังมีค่านิยมในสังคมที่ลงโทษผู้หญิงในกรณีต่างๆ ผู้หญิงที่มี “ผัว” หลายคนจะถูก
ประณามหยามเหยียด ทั้งที่ผู้ชายมี “เมีย” ได้หลายคน ดังที่ ยุรฉัตร บุญสนิท กล่าวไว้ว่า ในเรื่องไกรทอง เมื่อ
นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทองทะเลาะกับนางวิมาลา นางวิมาลาก็ถูกประชดประชันด่าว่าในเรื่องที่มีสามี
มาก่อน แม้แต่ไกรทองก็ยังกล่าวว่า
เจ้าเอยเจ้าคารม ปากคอพอสมกับเป็นม่าย
แสนรู้ร้อยอย่างช่างอุบาย ยักย้ายหลายทํานองว่องไว
มิเสียทีที่เป็นเมียชาลวัน น้อยหรือนั่นบุญศักดิ์ใหญ่
น่าหัวผัวตายประเดี๋ยวใจ ไม่ทันไรหรือมาเป็นเช่นนี้
(ยุรฉัตร บุญสนิท 2522: 77)
กล่าวได้ว่าการเป็นม่ายและการมีผัวหลายคนนั้นเป็นสิ่งน่ารังเกียจสําหรับผู้หญิงไทย แม้กระทั่งผัว
ใหม่ก็ยังนําข้อนี้มาด่าเหน็บแนมผู้หญิงได้ วิมาลาเป็นหญิงสาวที่เคยผ่านการมีผัวมาแล้วจึงถูกดูถูกต่างๆ นานา
จากคนรอบข้าง ถือเป็นบรรทัดฐานทางสังคมว่าสตรีมีผัวย่อมดีกว่าหญิงม่าย (ยุรฉัตร บุญสนิท, 2522)
ระบบชายเป็นใหญ่ยังได้ปลูกฝังให้ผู้หญิงยอมตกเป็นรองผู้ชายอยู่เสมอ ซึ่งก็ยิ่งช่วยเสริมให้ระบบนี้มี
รากฐานมั่นคงยิ่งขึ้น การที่ผู้หญิงยอมตกเป็นรองผู้ชายนี่เองที่ถือเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ให้ความชอบ
ธรรมกับความรุนแรงชุดนี้ เห็นได้จากตอนที่ไกรทองพูดถึงวิมาลาในทํานองว่าเป็นหญิงไม่น่าเลี้ยง ดังคํา
ประพันธ์ที่ว่า
หญิงร้ายปากกล้าไม่น่าเลี้ยง คนผู้จะดูเยี่ยงไปภายหน้า
ฉวยชักมีดหมอที่เหน็บมา ทําเป็นโกรธาจะฆ่าตี
(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, 2545: 312)