Page 112 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 112

วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา   111


                            สังคมไทยมีลักษณะของสังคมที่ชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย กล่าวคือ ผู้ชายมีอํานาจเด็ดขาดในการ
                     ตัดสินสิ่งต่างๆในครอบครัว ในสังคมไทยผู้หญิงถูกระบบชายเป็นใหญ่ปลูกฝังให้มีคุณสมบัติของเมียและแม่มา

                     อย่างยาวนาน วรรณคดีไทยก็ได้รับผลกระทบจากระบบนี้ เห็นได้จากภาพเสนอผู้หญิงในวรรณคดีไทยโบราณ
                     เช่น ในลิลิตพระลอ พระนางลักษณวดีสวมบทบาทของ “เมีย” และ “แม่” ไว้อย่างไม่บกพร่อง ซึ่งภาพเสนอ
                     ของเมียและแม่นี้ได้รับการสืบทอดในวรรณคดีไทย (เสนาะ เจริญพร, 2548: 40-41)


                            ในบทละครนอกก็สะท้อนค่านิยมนี้เช่นเดียวกัน ดังที่ ยุรฉัตร บุญสนิท (2522: 119) กล่าวว่า ในบท
                     ละครนอกฝ่ายหญิงมีสถานภาพเป็นรองตัวละครฝ่ายชาย เพราะลักษณะครอบครัวเป็นแบบพ่อเป็นใหญ่
                     (Patriarchal) ครอบครัวไทยให้สิทธิขาดในการครอบครองแก่ฝ่ายชาย ชาวไทยมักจะถือว่าสตรีเป็นช้างเท้า

                     หลังไม่มีอํานาจสิทธิขาดเหมือนฝ่ายชาย

                            เมื่อสังคมไทยถูกครอบด้วยระบบชายเป็นใหญ่จึงมีการแบ่งแยกความสําคัญระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
                     ออกจากกัน ผู้ชายมักยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและกันผู้หญิงให้เป็น “คนอื่น” จึงเกิดการกดขี่ทารุณผู้หญิงใน

                     รูปแบบต่างๆ เพราะผู้ชายมองว่าผู้หญิงเป็น “คนอื่น” ที่ไม่ใช่ “เรา” นั่นเอง

                            ในเรื่องไกรทองความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากการกระทําของตัวละครชาย ไม่ว่าจะเป็น ชาลวัน ไกรทอง
                     หรือเศรษฐีเมืองพิจิตร แต่ก็มิใช่ว่าตัวละครหญิงจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงเพียงแต่ถ้าเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

                     จะพบว่าเป็นผลพวงมาจากการกระทําของตัวละครชายทั้งสิ้น

                            บทละครนอกเรื่องไกรทองปรากฏความขัดแย้งระหว่างเพศ ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่
                     เรียกว่าอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย ผ่านการสร้างตัวละครชายให้มีอํานาจและความสามารถเหนือ

                     ตัวละครหญิง โดยสะท้อนผ่านลักษณะด้านความสามารถและลักษณะด้านครอบครัวของตัวละครชาย

                     ดังต่อไปนี้

                            ลักษณะด้านความสามารถ ของชาลวันกับไกรทองโดดเด่นกว่าตัวละครหญิงอย่างเห็นได้ชัด
                     กล่าวคือ ตัวละครชายทั้งสองมีความสามารถในการดํารงชีพ ชาลวันเป็นพญาจระเข้ผู้มีฤทธิ์เดชในถ้ําทอง ทั้ง

                     ยังอิ่มทิพย์ และมีเขี้ยวแก้วคุ้มครองตน ส่วนไกรทองก็มีวิชาความรู้ในทางปราบจระเข้ มีโอกาสได้รับของวิเศษ
                     เพื่อปราบจระเข้ และยังสามารถปราบชาลวัน จระเข้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองบาดาลได้ ทําให้ไกรทองมีฐานะเป็นผู้
                     เก่งกล้าสามารถแห่งเมืองพิจิตร


                            ส่วนผู้หญิงถือเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยเสริมบารมีให้แก่ผู้ชายเท่านั้น คือ ช่วยเสริมให้ผู้ชายรู้สึกว่าตนเป็น
                     ชายชาตรีอย่างสมบูรณ์จากการมีผู้หญิงเป็นสมบัติชิ้นหนึ่ง ดังนั้นชาลวันจึงโกรธมากเมื่อไกรทองลวนลามวิมาลา
                     เนื่องจากเป็นการเหยียบย่ําศักดิ์ศรีความเป็นชายของตน
   107   108   109   110   111   112   113   114   115   116   117