Page 161 - รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง การประเมินข้อมูลพื้นฐานระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : นโยบาย กฎหมาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศ
P. 161
หน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวก่อนสิ้นสุดสัญญาเนื่องจากมีการเลิกตำแหน่งดังกล่าวจึง
68
เป็นไปโดยชอบตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง มิได้กระทำผิดสัญญา ไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ในส่วนของภาคเอกชนนั้น มักจะมีการจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนอันเป็น
การจ้างที่แพร่หลายในกระบวนการผลิตของธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น มีการจ้างคราวละหนึ่งปีหรือสองปี
และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาก็จะมีการต่ออายุสัญญาไปเรื่อย ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายจ้างเกิดความ
คล่องตัวในการจ้างและการเลิกจ้าง การลดหรือเพิ่มกำลังการผลิต หรือแม้กระทั่งการโยกย้ายฐานการผลิต
ในส่วนของการจัดสวัสดิการสำหรับลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ลูกจ้างรายปี
หรือสัญญาจ้างระยะสั้นหรือลูกจ้างเหมาค่าแรงที่ทำงานในสถานประกอบการอาจมีปัญหาในการถูกละเมิดสิทธิ
แรงงานได้ เช่น การได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกับลูกจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง
การขาดโอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึงไม่มีความมั่นคงในการทำงาน หรือกรณีที่เป็นการ
ละเมิดสิทธิมนุษยชนในการทำสัญญาว่าจ้างพนักงานให้เป็นพนักงานโดยได้รับเงินเดือนตามโครงสร้างบัญชี
เงินเดือน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ตามระเบียบบริษัทซึ่งใช้กับพนักงานทั่วไป แต่มีระยะเวลาสัญญาจ้าง
เป็นช่วงและเมื่อครบสัญญาก็จะมีการพิจารณาต่อสัญญาแม้ว่าลักษณะงานเป็นภารกิจประจำของบริษัท เป็น
ต้น
ข้อปัญหานี้ เป็นผลเนื่องมาจากการทำสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนโดยการทำสัญญา
แบบปีต่อปีของภาคเอกชน คือปัญหาการไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างงาน โดยนายจ้างอาจแบ่งสัญญาเป็นช่วง
หลายช่วงเพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ซึ่งนายจ้างอาจมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
69
ค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา 118 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นายจ้าง
จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง แต่ไม่ให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นซึ่งจะต้องเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสำหรับการจ้างงานใน
โครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่
แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุด หรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่
เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดย
นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง
อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจการหรือธุรกิจบางประเภทในปัจจุบัน โดยเนื้อแท้ของสัญญาเป็นการต่อ
สัญญาไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีลักษณะเป็นการจ้างแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง ตามกฏหมายถือว่าลูกจ้างย่อมมี
สิทธิได้รับค่าชดเชยโดยให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้ารวมกันเพื่อประโยชน์ในการได้รับค่าชดเชยตาม
กฎหมาย เช่น สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีที่จะต้องมีการทำงานครบหนึ่งปีถึงจะมีสิทธิหยุดได้หกวัน หรือสิทธิที่
จะได้รับค่าชดเชยตามอายุงานกรณีถูกเลิกจ้างงาน เป็นต้น
68 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 443/2559.
69 คำพิพากษาฎีกาที่ 3116/2544
101