Page 96 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 96
๘๒
เนื่องจากได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างหนัก ปัจจุบัน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เลื่อนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อําเภอทับสะแก
ออกไป แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยังพยายามที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
การจัดทําโครงการนําร่องพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด ๕ เมกะวัตต์ เพื่อสนองนโยบาย
ภาครัฐในการนําพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า และเป็นโครงการวิจัยต้นแบบ รวมถึงอาจมีการพัฒนา
พื้นที่เป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมพลังงานทดแทน โดยใช้พื้นที่ประมาณ ๒๕๐ ไร่ แต่ชาวบ้านสงสัยว่าพื้นที่
ที่เหลืออีกกว่า ๔,๐๐๐ ไร่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะใช้ดําเนินการโครงการอะไรเพิ่มเติมอีก
หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมของ
อําเภอทับสะแก เพื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พยายามล่ารายชื่อชาวบ้านให้สนับสนุนการก่อสร้าง
โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ และในขณะเดียวกัน ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยังให้สัมภาษณ์
ว่าพื้นที่ทับสะแกเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยเหตุการณ์ในพื้นที่และเหตุผลดังที่
กล่าวมาแล้ว ชาวบ้านจึงเกรงว่าโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จะเป็นแค่เพียงโครงการเริ่มต้นอันจะ
นําไปสู่การใช้พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงทําเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โดยต้องการให้ระงับการก่อสร้างบนพื้นที่ ๒๕๐ ไร่ ไว้ก่อน และให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวางแผนการ
ใช้ประโยชน์พื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของ
ชาวบ้านว่า ควรจะใช้พื้นที่ที่เหลือไปทําอะไรเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชาวบ้านและสอดคล้องกับ
ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่
๕.๑.๓ ประเด็นการละเมิดสิทธิจากกรณีศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๑) สิทธิในการกําหนดอนาคตและเจตจํานงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา
โครงการขนาดใหญ่ที่เป็นกรณีร้องเรียนของชาวบ้าน ทั้งโรงถลุงเหล็กขั้นต้น นิคม
อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร ท่าเรือน้ําลึก และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ล้วนเป็นโครงการที่ถูกกําหนดขึ้นภายใต้
แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันตกที่กําหนดให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเหล็ก
และพลังงานของประเทศและอาเซียน ทั้งนี้โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) เป็น
ผู้สนับสนุนและทําการศึกษาเสนอผ่านสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การผลักดันของบริษัทสหวิริยา ผ่านสถาบันเหล็กและเหล็กกล้า
แห่งประเทศไทย ก็เป็นผู้ที่ร่วมกันผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรในพื้นที่อําเภอ
บางสะพาน โดยนอกจากขอรับการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุน เพื่อลดภาษีและต้นทุนในด้านต่าง ๆ
แล้ว ยังขอสนับสนุนให้รัฐบาลช่วยสร้างสาธารณูปโภค ทั้งแหล่งพลังงาน แหล่งน้ํา การขยายเส้นทางการ
คมนาคม ฯลฯ