Page 97 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 97

96       แดศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน


                       ภาพของผู้หญิงในเรื่องสั้นแนวผจญไพรจึงมักถูกนําเสนอเป็นสองภาพ ภาพหนึ่งเป็นผู้ “ถูกกระทํา”
                คือเป็นหญิงบริสุทธิ์ที่อ่อนแอไม่มีทางต่อสู้ ตกเป็นเหยื่อราคะของผู้ชาย ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นหญิงแพศยาใจ

                ง่ายที่ถูกลงโทษอย่างโหดเหี้ยมเพียงเพราะเธอต้องการเป็นฝ่าย “กระทํา” บ้าง  ชะตากรรมดังกล่าวไม่อาจ
                หลีกเลี่ยงได้เพียงเพราะเธอเกิดมาเป็นผู้หญิง เธอถูกลงโทษเนื่องจากความเป็นผู้หญิงและความงามหรือ
                “เสน่ห์” ของเธอเอง การกระทําต่างๆ ที่มีต่อผู้หญิงนี้เป็นการตอกย้ําถึงสถานะที่ต่ํากว่าของผู้หญิงใน

                วรรณกรรมแนวนี้ เพราะผู้หญิงในเรื่องถูกสร้างให้มีความด้อยกว่าในทุกด้าน และยังถูกเปรียบกับธรรมชาติซึ่ง
                โดยนัยยะแล้วก็ย่อมถูกผู้ชายกระทําหรือรุกราน ยิ่งกว่านั้นการมองว่าผู้หญิงด้อยกว่าโดยการสร้างให้ตัวละคร

                หญิงเป็นชาวป่าหรือชนชาติส่วนน้อยหรือการเปรียบเทียบเป็นสัตว์เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมที่ผู้ชาย
                จะกระทํารุนแรงต่อผู้หญิง ดังนั้น เราจะพบว่าเสียงเล่าเรื่องซึ่งมักเป็นผู้เล่าเรื่องแบบสัพพัญญูแสดง

                “น้ําเสียง” ที่เสนอว่าการกระทํารุนแรงดังกล่าวเป็น “เรื่องธรรมดา” ในวรรณกรรมแนวนี้ ผู้หญิงไม่มี “เสียง”
                ที่จะเล่าถึงชีวิต ประสบการณ์ ความคิดหรืออารมณ์ของตน


                       งานแนวผจญไพรนี้จึงเป็นงานประเภทที่มองจากมุมของผู้ชาย สนองความเพ้อฝันและอารมณ์เพศ
                ของผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ การฉุดคร่าผู้หญิง การสมสู่กับคนกึ่งสัตว์ การล้างแค้นด้วยวิธีการสยดสยอง

                แบบต่างๆ เรื่องเหล่านี้เขียนในขณะที่การล่าสัตว์ทั้งเพื่อเป็นกีฬาและความบันเทิงยังไม่ได้ถูกควบคุม แนวคิด
                เรื่องการสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาพันธุ์ป่าไม้หรือแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติยังไม่มีที่ทางอยู่ใน

                สังคมไทย ณ ขณะนั้น ทั้งหมดนี้แสดงว่าเรื่องเกี่ยวกับป่าสนองความต้องการของผู้อ่านได้ด้วยความ “เถื่อน”
                ที่รุนแรงไร้ความควบคุม โดยการเสนอภาพว่าผู้หญิงเป็น “คนอื่น” “เหมือนสัตว์” ใช้สัญชาตญาณและ

                อารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้น ผู้หญิงในเรื่องเหล่านี้จึงไม่ใช่ “ผู้หญิง” ที่มีตัวตนและเลือดเนื้อ แต่เป็นเพียง
                “ร่าง” ที่สนองอารมณ์เพศของผู้ชาย เป็นผู้ถูกกระทําอย่างรุนแรงเพราะผู้หญิงได้ถูกเชื่อมโยงกับความหมาย

                สัญญะของ “ป่า” ธรรมชาติ” ที่ผู้ชายต้อง “รุกราน” “ครอบครอง” “เอาชนะ” นั่นเอง
   92   93   94   95   96   97   98   99   100   101   102