Page 88 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 88
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 87
สารคดีและบันเทิงคดี อย่างไรก็ตาม ภาพแทนของป่าในงานเหล่านี้เป็นการประกอบสร้างของนักเขียน
ชาวเมืองชนชั้นกลางทั้งที่มาจากประสบการณ์ของตนเองผสมผสานกับจินตนาการ
โครงเรื่องงานแนว “ผจญไพร” สองทศวรรษก่อนและหลัง 2500
ในกรณีของไทย โครงเรื่องของงานแนว “นิยมไพร” หรือ “ผจญไพร” ในยุคนี้มีลักษณะที่สอดคล้อง
กับโครงสร้างของเรื่องสั้นแนวสัจนิยมที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น นั่นคือการสร้างโครงเรื่องที่มีความขัดแย้งหลักที่
พัฒนาไปสู่จุดสุดยอดที่มักลงจบด้วยความพลิกผันเพื่อสร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้อ่าน ส่วนฐานความคิดที่
เป็นแนวสัจนิยมก็คือการเล่าเรื่องอย่างมีเหตุมีผล มีการบรรยายบรรยากาศอย่างสมจริงโดยอ้างสถานที่ที่มีอยู่
จริง วิธีการเล่าเรื่องแบบเล่าประสบการณ์หรือเล่าตามที่ได้ยินมาก็เป็นแนวนิยมของงานแบบสัจนิยม อย่างไรก็
ตาม การสร้างแนวเรื่องผจญภัยทําให้ผู้เขียนต้องจินตนาการเรื่องราวแปลกประหลาดขึ้นเพื่อทําให้เกิดความ
น่าตื่นเต้น
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าเรื่องแนวผจญไพรเป็นงานที่แสดงคู่ขัดแย้งได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคน
กับป่าและสัตว์ป่า และระหว่างคนกับคนซึ่งมีสองแบบ แบบแรกเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในป่า และแบบ
ที่สองเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองและคนป่า โครงเรื่องที่แสดงความขัดแย้งระหว่างคนกับป่านั้นมัก
ปรากฏเป็นเรื่องเล่าของพรานเล่าประสบการณ์ของตนเองหรือของผู้อื่นให้คนอื่นฟังไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือ
คนกรุงที่มาเที่ยวป่าหาความตื่นเต้นหรือหาข้อมูลไปเขียนหนังสือ เช่น เรื่อง “บาโหย” “เขาต้องการเรื่องป่า”
“ชั่วชีวิตพราน” “ผีถ้ํา” ของมนัส จรรยงค์ โดยเรื่องที่เล่ามักแสดงว่าพื้นที่ป่าเป็นที่อยู่ของสัตว์ร้าย (ช้าง เสือ)
หรือเป็นดินแดนประหลาดลึกลับ มีเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่น สัตว์แปลกๆ (ลิงที่เหมือนคน ใน “ผีถ้ํา”) และ
คนประหลาด (“ผีคน” อายุนับ 100 ปีและเตี้ยแคระลงเรื่อยๆ จนสูงเพียงศอกเดียวใน “บาโหย”) พรานป่าที่
มีอาคมแบบต่างๆ โจร ฯลฯ เพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นให้แก่ผู้อ่าน
ข้อน่าสังเกตก็คือคู่ขัดแย้งระหว่างคนกับป่าไม่ได้เสนอในแนวที่เป็นจุดประสงค์ของการเข้าป่าของ
นักเขียนอย่างมาลัย ชูพินิจ นั่นคือ การรู้จักตนเอง การเอาชนะตนเอง หรือเป็นการเสนอการต่อสู้ระหว่างคน
กับธรรมชาติที่ยากลําบากเพื่อนําเป็นสู่บทสรุปทางปรัชญาชีวิต (ซึ่งปรากฏในงานสัจนิยมใหม่อย่างเรื่อง
ทางเสือ ของศิลา โคมฉาย) แต่เสนอในลักษณะที่ป่าเขาเป็นดินแดนที่ “เป็นอื่น” เต็มไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ
เช่น เรื่อง “ป่าเปลี่ยว” ของมนัส จรรยงค์เริ่มต้นด้วยประสบการณ์ของการเดินป่าและการล่ากวาง แต่การล่า
กวางที่บาดเจ็บได้นําพวกเขาไปสู่หมู่บ้านที่คนกําลังล้มตายด้วยโรคอหิวาตกโรค เมื่อเขากลับมาหมู่บ้านที่พัก
เพื่อหาแพทย์ไปรักษาและเล่าเรื่องราวที่รู้มาก็พบว่าเหตุการณ์ในหมู่บ้านดังกล่าวเกิดเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และคน
แก่ที่เห็นในหมู่บ้านก็ตายไปนานแล้วด้วย