Page 86 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 86
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 85
ในการเอาชนะสัตว์ผ่าน “ความรู้” ต่างๆ เช่น ความเข้าใจธรรมชาติสัตว์ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่นและตนเอง
เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาโดยง่าย ดังนั้น การเข้าป่าล่าสัตว์เป็นการพิสูจน์ความเป็น “ผู้ชาย” ที่แท้จริง
การล่าสัตว์ด้วยอาวุธทันสมัยทําให้เกิดการล่าสัตว์อย่างกว้างขวางจนสร้างความกังวลว่าหากไม่มี
กฎหมายคุ้มครอง สัตว์ป่าคงจะต้องหมดไปในที่สุด ดังนั้นใน พ.ศ. 2502 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เลขานุการ
นิยมไพรสมาคม และคณะกรรมการได้เข้าพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อเสนอให้
รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า อันเป็นที่มาของกฎหมายหลายฉบับ
เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ต่อมาปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535) และ
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นอกจากนี้ ได้มีการประกาศป่าขนาดใหญ่หลายแห่งให้เป็นอุทยาน
แห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อาทิ ป่าเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2505
ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2508 (ธนพล
สาระนาค, 2550)
ความนิยมเข้าป่าในช่วงก่อนทศวรรษ 2500 ได้ส่งผลอย่างชัดเจนต่องานเขียนเรื่องป่าหลายประเภท
มีการศึกษาธรรมชาติของป่าเขาและสัตว์ต่างๆ และเกิดแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการทํางานของ
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลและนิยมไพรสมาคม ทําให้เกิดงานเขียนแนววิชาการเกี่ยวกับสัตว์ เช่น หนังสือคู่มือ
ดูนกเมืองไทย (Bird Guide of Thailand) หนังสือคู่มือ ดูผีเสื้อในเมืองไทย (Field Guide to the
Butterflies of Thailand) หนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals of Thailand) เป็นต้น
(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, 2550: 107-113)
ในส่วนของวรรณกรรมเกิดงานเขียนสารคดีและบันเทิงคดีจํานวนมากจากผู้ที่นิยมท่องเที่ยวล่าสัตว์
ในป่า อาทิ มาลัย ชูพินิจได้เขียนทั้งสารคดีและบันเทิงคดี สารคดีได้แก่ ทุ่งโล่งและดงทึบ บันเทิงคดีที่เป็น
นวนิยายชุด ล่องไพร ประกอบด้วยเรื่อง อ้ายเก-งาดํา, มนุษย์นาคา-แดนสมิง-หุบผามฤตยู, ป่าช้าช้าง-เจ้า
แผ่นดิน, จามเทวี, เจ้าป่า, ตุ๊กตาผี, มนุษย์หิมพานต์, เมืองลับแล-มดแดง-พรายตะเคียน, เทวรูปชาวอินคา,
เสือกึ่งพุทธกาล, ทางช้างเผือก, ผีตองเหลืองคนสุดท้าย, วิมานฉิมพลี 1-2 นักเขียนสารคดีอีกคนที่สําคัญคือ
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ซึ่งมีผลงานรวบรวมเรื่องเล่าจํานวนมากเกี่ยวกับป่า อาทิ ป่าและปืน ป่าในอดีต ป่าโบราณ
นักเขียนบันเทิงคดีเกี่ยวกับป่าที่มีผลงานจํานวนมากอีกคนหนึ่งคือ มนัส จรรยงค์ ในฐานะที่เป็นคน
ชอบเที่ยวป่าเขาได้สร้างผลงานเรื่องป่าเขาในยุคก่อนและหลัง 2500 ซึ่งต่อมามนู จรรยงค์ ผู้เป็นบุตรได้
รวบรวมออกเป็นรวมเรื่องสั้นชุด ป่าราบ (2546) งานเหล่านี้เป็นงานที่มนัส จรรยงค์เขียนระหว่าง พ.ศ. 2480-
2490 จากประสบการณ์การทํางานในป่าที่ทัณฑนิคมจังหวัดยะลา (มนัส จรรยงค์, 2546: บทนํา) มนู จรรยงค์
เขียนเล่าว่า “พ่อชอบเที่ยวและเป็นนักเดินทาง พ่อบอกว่าการเดินทางนี้แหละจะทําให้เรามีข้อมูลมาเขียนทั้ง