Page 85 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 85
84 แดศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน
ความนิยมงานเขียนแนวผจญไพร
เรื่องเกี่ยวกับป่าได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ อาทิ การทํา
สัมปทานป่าไม้ การสํารวจเปิดป่าเพื่อหักร้างถางพงรับความเจริญสมัยใหม่ รวมทั้งการลงทุนจากต่างชาติไม่ว่า
จะเป็นรูปของการทําถนน การตัดไม้เพื่อการก่อสร้าง การทําเหมือง ตลอดจนเป็นผลจากความนิยมการล่า
สัตว์เพื่อความบันเทิงใจอันเป็นกิจกรรมแบบใหม่ของคนเมือง
งานเขียนเรื่อง “นิยมไพร” เกิดขึ้นเมื่อมีความนิยมเข้าป่าล่าสัตว์ในหมู่ชนชั้นกลาง เนื่องด้วยหลัง
สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีรถกําลังแรงและอาวุธทันสมัยจากต่างประเทศเข้ามามาก ทําให้เกิดการเข้าป่าล่า
สัตว์กันในหมู่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง นอกจากนี้การเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ก็ทําให้เกิดการสร้างสาธารณูปโภค
อาทิ เขื่อน และถนนตัดเข้าไปในป่าเขา ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดการเปิดป่า เกิดความสะดวกสบายในการ
เดินทางมากขึ้น การล่าสัตว์ที่เป็นกีฬาและการพักผ่อนของชนชั้นสูงมานานต่อมาก็ได้กลายเป็นวิธีการพักผ่อน
ของชนชั้นกลางด้วยดังที่มาลัย ชูพินิจได้เขียนไว้ในสารคดี ทุ่งโล่งและดงทึบ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2495) ว่า
ชาวเขาชาวป่าจะไม่ฆ่าสัตว์เพื่ออะไร นอกจากเนื้อที่จะเสพเข้าไป สําหรับเขา การล่าสัตว์มิได้เป็น
ความภูมิใจหรือตื่นเต้นจนนิดเดียว นอกจากกิจวัตรอันน่าเบื่อหน่ายประจําวัน แต่สําหรับเราๆ
ท่านๆ ผู้เท้าอ่อน หนังบาง หมกมุ่นอยู่กับงานโต๊ะ กวางหรือสัตว์ป่าอย่างเดียวกันนั้นเองหมายถึง
ความภาคภูมิใจไปชั่วชีวิต (น้อย อินทนนท์, 2546: 26)
ในกรณีของมาลัย ชูพินิจการเข้าป่ากับคณะเป็นกิจกรรมที่ทําปีละหลายครั้งเพื่อเป็นการพักผ่อนและ
หาวัตถุดิบในการเขียน (น้อย อินทนนท์, 2546: 9) และในคํานําที่เขียนให้แก่หนังสือเรื่อง ป่าและปืน ของชาลี
เอี่ยมกระสินธุ์ มาลัย ชูพินิจเขียนให้เหตุผลของการเข้าป่าไปอยู่อย่างลําบากว่าเป็นการ
ออกไปสู่ความวิเวกวังเวงและเปลี่ยวดายของป่าดงซึ่งท่านจะต้องเป็นผู้ชายที่รู้จักในการช่วยตัวเอง
ในการหุงหาอาหาร ในการเผชิญกับความยากลําบาก นั่นแหละ คือการเผชิญภัย นั่นแหละคือ
ความหมายของการออกป่า ไม่ว่าจะมีการล่าสัตว์หรือไม่มีการล่าสัตว์ และนั่นแหละคือความสุขที่
ข้าพเจ้าหมาย เพราะเราได้เป็นตัวของตัวเองอย่างลุ่นๆ ตามธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่ง
ปราศจากความกังวลจากขนบประเพณีและพันธะที่มนุษย์สร้างขึ้นผูกมัดตัวเอง (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์,
2516: ข)
เขาได้กล่าวต่อไปว่าการล่าสัตว์นั้นแม้จะมีอาวุธที่ร้ายแรงก็ไม่เพียงพอ ต้องมีความรู้ในวิธีการล่าสัตว์
ที่ถูกต้อง ความรู้ในนิสัยสัตว์ การพิจารณาร่องรอยที่สัตว์ทิ้งไว้ ขวัญและกําลังใจที่มั่นคง และความแม่นยําใน
การยิง (ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์, 2516: จ) ข้อความข้างต้นแสดงว่าการดํารงชีวิตอย่างลําบากในป่า การสร้างอํานาจ