Page 74 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 74
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 73
ความสุขในการมีชีวิตไปได้ไม่รู้หมด แต่กลับพบว่าตนเองกําลังจะต้องลาโลกไปเพราะเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์
เหล่านี้คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในชีวิตที่ตัวละครแต่ละตัวต้องเผชิญ
ด้ายสีม่วง = ทุกขัง คือสภาวะที่คงตัวอยู่ไม่ได้และแปรผันตามเหตุปัจจัย อันก่อเกิดอยู่ใน
ความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหลายที่เหมือนผูกเข้ากันเป็นปมอยู่ดังอุปลักษณ์ของด้ายที่ปรากฏ เช่น ความรัก
ความปรารถนาของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ความรักความลุ่มหลงของร้อยตํารวจเอกปรัชญาที่มีต่อชาติชาครีต์
ใน ซากดอกไม้ ไม่อาจคงตัวอยู่ได้ เพราชาติชาครีต์เปลี่ยนใจ ความรักของจอมขวัญที่มีต่อลูกๆ ใน ซากดอกไม้
ถูกกระทบด้วยเหตุปัจจัยคือความทุกข์ความผิดหวังจึงแปรเปลี่ยนเป็นการใช้ความรุนแรงกับลูก ความรักที่
ปฤงคพมีต่อวินไท ใน ด้ายสีม่วง หรือความรักที่เขตพิภพมีต่อลอยควันใน ห่วงจําแลง เคยเป็นทั้งรักทั้งใคร่
ต่อมาแปรเปลี่ยนเป็นทั้งรักทั้งวิตกระแวง และกลายเป็นหักใจให้หมดรักในที่สุด หรือแม้แต่ความรักความหวัง
ที่แม่ลอยควันมีต่อหลานสาว แต่ชีวิตของหลานสาวกลับต้องพินาศเพราะถูกคนใจอธรรม์ข่มขืน เหล่านี้คือ
ความผันแปรตามเหตุปัจจัยที่ตัวละครแต่ละตัวต้องเผชิญแต่ไม่อาจทําความเข้าใจได้จึงเกิดทุกข์อย่างสาหัส
ห่วงจําแลง = อนัตตา ความไม่มีตัวตน สรรพสิ่งที่เกิดมีขึ้นให้เห็นให้รู้สึกให้สัมผัสได้นั้นเป็นเพียง
การประชุมกันของเหตุปัจจัย และเป็นเพียงการที่มนุษย์เลือกที่จะให้ความหมายต่อสิ่งนั้นหรือสร้าง “สมมติ”
ให้เกิดขึ้นนั่นเอง ทั้งความรัก อารมณ์ปรารถนา ความผูกพัน ความพึงพอใจ ความคาดหวัง ร่างกาย สินทรัพย์
ครอบครัว คนรัก หรือแม้แต่โรคร้าย สิ่งเหล่านี้ผลักให้ตัวละคนวิ่งวนอยู่ในวัฏฏะและเกิดความทุกข์เดือดร้อน
ใจเปรียบเหมือนห่วงที่เกี่ยวกระหวัดบีบรัด ทว่าห่วงนั้นเป็นเพียง “สมมติ” สอดคล้องกับความหมายของ
อุปลักษณ์ห่วงจําแลง ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ตัวละครตัวอื่นๆ มิได้ตระหนัก นอกจากจอมขวัญที่ชีวิตของเธอ
ต้องทนทุกข์มามากจนเริ่มมองเห็นความจริงของชีวิต เพิ่มพูนปัญญาของตนมากขึ้น จากแต่เดิมที่ติดยึดอยู่กับ
สมมติสัจจะ หรือ ความจริงสมมติ คือตัณหาประเภทต่างๆ ที่ล้วนเป็นอวิชชา จอมขวัญพัฒนาจิตของตนจน
เริ่มเข้าถึง ปรมัตถะสัจจะ อันหมายถึงความจริงแท้ตามอุดมคติของพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับไตรลักษณ์ การ
เข้าใจความจริงนี้จะช่วยให้มนุษย์อยู่ในโลกสมมตินี้โดยไม่ทุกข์ กล่าวคือ มีปัญญาเป็นเครื่องชี้นํา เข้าใจความ
เป็นไปของโลกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
จากอธิบายข้างต้นจะเห็นได้ว่าสารสําคัญทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผู้เขียน “วางโครง” ไว้ตั้งแต่เริ่ม
เขียนภาคแรกของนวนิยายชุดนี้แล้ว “ลองไล่อ่านไปอย่างตรึกตรองและพินิจพิเคราะห์พิจารณาอย่างดี จะแล
เห็น ‘อริยสัจ’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในแต่ละส่วนอย่างชัดเจนขึ้น” (ซากดอกไม้, 2549: คํานํานักเขียน) นอกจากนั้น
สารสําคัญทางพุทธศาสนาของผู้เขียนพัฒนาจนถึงขั้นสุดด้วยการปิดเรื่องผ่านปุจฉา-วิสัชนา อันเป็นกลวิธีการ
สอนที่สําคัญในวรรณคดีไทยพุทธศาสนาและเป็นกลวิธีที่นิยมใช้ในการจบหรือ “ขมวดเรื่อง” ที่พบในธรรม
เทศนาว่า