Page 70 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 70
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 69
ความทรงพลังของพระพุทธศาสนาในการเข้าไปจัดการวาทกรรมหรือชุดความรู้ต่างๆ ในสังคม
ปรากฏชัดในกรณีของพระราชกําหนดใหม่ในกฎหมายตราสามดวงที่แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องกรรมชั่วที่ทํา
ให้มนุษย์ไปเกิดเป็น “กะเทย” ว่าเป็นผลกรรมจากการร่วมเพศกับภรรยาของผู้อื่น โดยบทลงโทษที่ปรากฏคือ
เป็นสัตว์ถูกต้อนถึง 500 ชาติ เป็นหญิง 500 ชาติ และเป็นกะเทย 500 ชาติ อิทธิพลของปิตาธิปไตยจึงปรากฏ
ชัดตรงนี้เมื่อทั้งผู้หญิงและกะเทยเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาในการเกิดใหม่ในชาติต่อไป (เทอดศักดิ์ ร่มจําปา,
2545: 19) คติเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนาที่มีส่วนในการอธิบายการเกิดของกะเทย (ในที่นี้ใช้ในความหมาย
เดียวกับชายรักชาย/เกย์) นี้เองเป็นสิ่งที่นักวิชาการมองว่าเป็นสาเหตุที่ทําให้สังคมไทยมีขันติธรรม
(tolerance) กับกลุ่มอัญเพศ เนื่องจากการเกิดมาในชาติหนึ่งๆ นั้นเป็นผลมาจากกรรมที่ได้กระทําสะสมไว้ใน
อดีตชาติ การเกิดเป็นกะเทยในปัจจุบัน ไม่ใช่สภาวะถาวร หากกอปรกรรมดีในชาติปัจจุบันก็สามารถที่จะไป
เกิดในรูปลักษณ์ที่ดีกว่านี้ (เทอดศักดิ์ ร่มจําปา, 2545: 19)
ผู้เขียนบทความขอเสนอความคิดเพิ่มเติมว่าการที่ความเป็นเกย์ถูกอธิบายว่าเกิดขึ้นจากการ “ผิด
ประเวณี” ตามคติของกรรม แสดงให้เห็นว่าในกลุ่มคนที่นับถือพระพุทธศาสนาก็โยงเกย์กับเพศวิถีของเกย์เข้า
กับความสําส่อน และเป็นกรรมชั่วที่ติดตัวมาทําให้ต้องผิดประเวณีในรูปแบบต่างๆ ซ้ําๆ ยิ่งขึ้นไป วีรวัฒน์
กนกนุเคราะห์ได้ผสานวาทกรรมพุทธศาสนาข้อนี้มาปรากฏในตอนจบของ ซากดอกไม้ ที่วิญญาณของชาติชาครีต์
เลื่อนลอยมาถึงงานฌาปนกิจศพของตนเอง เขารําพึงว่า “ตลอดชั่วชีวิตของผม ผมอาจไม่เคยกระทําสิ่งที่
เรียกว่า ‘ความดี’ แม้แต่ครั้งเดียว สําหรับครั้งนี้ ผมขออโหสิกรรมให้คนเหล่านั้น เพื่อว่าชาติหน้า ถ้ามีจริง ผม
จะได้เกิดมาเป็นชายสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เป็นเพียง ‘ดอกไม้ในซากชาย’ ดั่งในชาตินี้” (ซากดอกไม้, 2551: 289)
ความทุกข์ของชาติชาครีต์อาจเกิดจากการที่เขาต้องสังเวยชีวิตให้แก่อารมณ์ปรารถนาของตัวเอง เขาไม่รู้จัก
ยับยั้งชั่งใจ หรือเลือกทางเดินชีวิตที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์อย่างสันติภาพที่ร่วมกับภรรยาทํากิจกรรม
เพื่อสังคม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการ “เดินไปบนเส้นทางชีวิตที่ดี” ของสันติภาพคือการข่มกลั้นอารมณ์
ปรารถนา เขาปฏิเสธเพศวิถีที่แท้จริงของตนและสยบต่อมาตรฐานสังคมรักต่างเพศ อารมณ์ปรารถนาที่เป็น
เครื่องมือในการยืนยันอัตลักษณ์และเพศวิถีของตัวละครแต่กลับชักนําตัวละครไปสู่ความตายน่าจะแสดงให้
เห็นภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ของเกย์ไทยที่มีต่อเสรีภาพทางเพศของตน
ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ปรารถนาของตัวละครเป็นสิ่งที่ชักนําความหายนะมาสู่พวกเขา
ชาติชาครีต์ต้องสิ้นชีวิตเพราะทศนนท์เป็นผู้บงการ กรรมจึงเริ่มทําหน้าที่สําคัญในเรื่องด้วยการสนองตอบทศนนท์
ด้วยความตายที่เหี้ยมโหดไม่ผิดกัน อย่างไรก็ตาม พึงคํานึงด้วยว่าการบงการฆ่าชาติชาครีต์มาจากความริษยา
และการต้องการแก้แค้นที่ถูกแย่งชิงคนรัก และถูกทําลายอาชีพ หายนะของทศนนท์จึงเป็นไปตามแรงผลัก
ของกรรม