Page 72 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 72
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 71
ชัดเจนว่าติดเชื้อเอดส์คือประจักษ์กับดอทคอม ใน ด้ายสีม่วง และ สมคะเนกับล่าฌายน์ใน ห่วงจําแลง
พฤติกรรมของตัวละครหลังได้รับเชื้อแตกต่างกัน ประจักษ์มุ่งแพร่เชื้อให้ลูกค้าที่มาใช้บริการทางเพศของตน
เช่นเดียวกับล่าฌายน์ที่ไปตามสถานที่หาคู่นอนของเกย์และร่วมเพศกับคนจํานวนมากเพื่อแพร่เชื้อ นัยว่าเป็น
การ “แก้แค้น” ที่เกย์คนอื่นนําเชื้อนี้มาสู่พวกเขา ส่วนดอทคอมหันไปร่วมกับองค์กรเกย์ในการรณรงค์ต่อต้าน
ภัยเอดส์และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ อย่างเอาจริงเอาจัง ฝ่ายสมคะเน ระหว่างที่เจ็บป่วยเขาก็มีโอกาสได้ฟื้นฟู
ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และเป็นเกย์ผู้รับเชื้อเอดส์ที่มีชีวิตยืนยาวที่สุด ผู้เขียนบทความถือว่าวีรวัฒน์
ยังคงเฉลิมฉลองให้แก่ความหลากหลายในการเลือกทางเดินชีวิตของเกย์ แต่ในกรณีของเกย์ที่แพร่เชื้อยังมีนัย
ของการ “สร้างกรรม” ต่อไปไม่สิ้นสุด และอาจทําให้พวกเขาต้องหลงติดอยู่ในวังวนของความปรารถนาใน
ชาติต่อๆ ไปด้วย
ผู้เขียนบทความขอเสนอในที่นี้ว่านวนิยายของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ชุดนี้มีสารสําคัญทางพุทธ
ศาสนาแฝงอยู่ และชัดเจนมากที่สุดใน ห่วงจําแลง อันเป็นนวนิยายเล่มสุดท้ายของชุด สังเกตจากชื่อส่วนต่างๆ
ของนวนิยายที่ผู้เขียนแบ่งเป็นองก์ ประกอบด้วย รัก เมตตา โลภ กรุณา โกรธ มุทิตา หลง และอุเบกขา ซึ่ง
เป็นข้อธรรมพื้นฐานสําหรับบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ได้ “ปฏิบัติ” มากนัก ทั้งนี้ ในเนื้อหาบางตอนผู้เขียนก็ได้แสดง
สารสําคัญทางพุทธศาสนาอย่างชัดแจ้ง
มนุษย์เราทุกคนก็เป็นแบบนี้ ต่างคนต่างจําลอง ‘โลกสมมติ’ ของตนเองขึ้นมากลาง
‘จิตตนคร’ ของตนแล้วคิดหลอกตัวเองว่าทุกอย่างทุกสิ่งในโลกสมมตินั้นเป็นความจริง แต่ละคน
จึงเพียรพยายามแหวกว่ายสายน้ําเชี่ยวกรากไปยังนครนั้นอย่างลืมตาย ลืมแม้กระทั่งคุณค่าของ
การมีชีวิตซึ่งเมื่อเห็น ‘โลกสมมติ’ นั้นเคลื่อนห่างออกไปเรื่อยๆ มนุษย์เหล่านั้นเพิ่งประจักษ์ชัดว่า
ตนเองกําลัง ‘หลง’ ทาง
แต่นั่นก็เป็นเวลาที่ ‘สาย’ เกินแก้
ลอยควันเป็นเด็กหนุ่มซึ่งอยู่ในวัยที่ไม่เข้าใจคําว่า ‘มุทิตาจิต’ อย่างแท้จริงการ ‘แสดง
ความยินดี’ กับตนเองหรือต่อคนรอบข้างเป็นเพียงโลกที่เขาพยายามอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหลอก
ตัวเองให้ ‘หลง’ (ห่วงจําแลง, 2551: 264)
โลกสมมติที่ผู้เขียนกล่าวถึงหรืออีกนัยหนึ่งคืออุปาทานของมนุษย์ทําให้ชีวิตวิ่งวนไปตามแรงผลักของ
กรรมในวังวนวัฏฏะแห่งกิเลส กรรม วิบาก อันเป็นวังวนของความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากอวิชชา จากความไม่
ตระหนักว่าความหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร โลกสมมติสัมพันธ์กับการกําหนดให้นวนิยายทั้งชุดเป็นเพียง
“ละคร” เรื่องหนึ่งเท่านั้น ที่แต่ละคนสวมบทบาทเพียงชั่วคราว ลักษณะของละครปรากฏตั้งแต่การใช้ผู้เล่า
เรื่องใน ซากดอกไม้ และ ด้ายสีม่วง ที่ผู้เล่าเรื่องเรียกผู้อ่านว่าคุณผู้ชม ลักษณะดังกล่าวนี้น่าจะเป็นกลวิธีการ
พูดป้อง (aside) ในการละครที่ตัวละครพูดเสมือนหนึ่งว่าตัวละครตัวอื่นในเรื่องไม่ได้ยิน แต่ผู้ชมได้ยิน ทั้งนี้