Page 76 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 76
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 75
ว่ามีความหมายทางการเมือง และสุดท้ายคือวาทกรรมพุทธศาสนาที่มีส่วนในการสร้างองค์ประกอบ
วรรณกรรม และกลวิธีต่างๆ ที่ผู้เขียนใช้เพื่อสื่อสารสําคัญทางพระพุทธศาสนาอันมีส่วนสร้างลักษณะเฉพาะ
ให้แก่เรื่องเล่าของเกย์ในบริบทสังคมไทย เช่นเดียวกับที่ปรากฏในสื่ออื่น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ตามสายน้ํา
(2547) ผลงานกํากับของ อนุชา บุณยวรรธนะ และ สีลมซอยสอง (2549) กํากับโดย ปิยะ รังสีเทียนชัย ซึ่ง
แสดงให้เห็นความเข้มข้นของพุทธศาสนาที่เข้ามาปะทะประสานกับวาทกรรมเกย์ในสังคมไทย
การยืนยันอัตลักษณ์เกย์ในฐานะชนกลุ่มน้อยทางเพศในนวนิยายทั้ง 3 เรื่องแสดงให้เห็นการสร้าง
ภาวะกระทําการของเกย์หรือการสร้างตําแหน่งอัตบุคคลของเกย์ท่ามกลางมาตรฐานสังคมรักต่างเพศ
ความหมายทางการเมืองที่ปรากฏในฐานะการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของเกย์คือการยืนยันอัตลักษณ์ของตนผ่าน
ความสําส่อน ทั้งการหาคู่นอน และเพศวิถีที่ลื่นไหล อันเป็นการเลือกที่จะทําสิ่งที่ตรงข้ามกับมาตรฐานของ
สังคมรักต่างเพศ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ในเชิงความหมาย มากกว่าการเคลื่อนไหวในภาคสังคมจริงๆ ดังที่ผู้เขียน
ให้น้ําหนักแก่การเคลื่อนไหวทางสังคมขององค์กรเกย์น้อยกว่าการเลือกทางเดินชีวิตของเกย์ที่หลากหลายใน
ฐานะปัจเจกบุคคล จึงอาจกล่าวได้ว่านวนิยายของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ได้เฉลิมฉลองความหลากหลายตาม
กระแสความคิดแบบหลังสมัยใหม่ และแสดงความหมายทางการเมืองตามนัยของทฤษฎีอัญเพศโดยปรากฏ
ลักษณะเฉพาะของตัวบทแบบอัญเพศในด้านที่ผูกพันกับบริบท
วาทกรรมสําคัญที่เข้ามาปะทะประสานกับการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ของเกย์ที่กล่าวถึงไปแล้วนั้นคือ
วาทกรรมพุทธศาสนา ที่ชี้ให้เห็นว่าการให้ความหมายทุกอย่างล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้น ทั้งอัตลักษณ์ที่ถูกยัด
เยียดจากฝั่งรักต่างเพศ และอัตลักษณ์ที่เกย์สร้างขึ้นเอง การชี้ให้เห็นความเป็นสมมติอุปาทานนี้อาจเป็นความ
พยายามที่จะไม่สร้างสารัตถะให้แก่อัตลักษณ์เกย์ และถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์
ที่สุดท้ายนําไปสู่การสลายความเป็นอัตลักษณ์ทั้งหมดตามมุมมองของพุทธศาสนา อัตลักษณ์ที่ประกอบขึ้น
จากอิทธิพลของวาทกรรมอันหลากหลายในสังคมไทยช่วยยืนยันอัตลักษณ์เฉพาะของเกย์ในบริบทสังคมไทย
ในลักษณะที่ “อัตลักษณ์เกย์มิได้มีเพียงหนึ่งเดียว” (Bronski, 1998: 54)
ผู้เขียนบทความไม่คิดว่าการผสานสารสําคัญทางพระพุทธศาสนาเข้ามาในนวนิยายชุดนี้จะเป็นการ
โจมตีหรือวิพากษ์เกย์ แต่ขอเสนอว่าหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏวิพากษ์มนุษย์ในฐานะที่เท่าเทียม
เสมอกันทั้งหมด สมมติที่เกิดขึ้นไม่ได้จํากัดแบ่งแยกเพศ ชีวิตของตัวละครทุกตัวต่างก็วิ่งวนไปตามแรงขับแห่ง
อวิชชา ทุกคนล้วนสมมติหรือให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ เพื่อสร้างสุขให้แก่ตน เพื่อที่จะพบในที่สุดว่าความสุข
ดังกล่าวไม่มีตัวตนที่แท้และพร้อมจะแปรผันไปตามกฎไตรลักษณ์ ความทุกข์ที่เป็นของกลางสําหรับคนทุกเพศ
อย่างไร้เส้นแบ่งช่วยแสดงให้เห็นว่าเกย์เป็นมนุษย์เท่ากับที่ผู้ชายและผู้หญิงเป็น ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดทุกข์และ
โอกาสที่จะพ้นทุกข์จึงเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน