Page 154 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 154

๑๔๐







                         การศึกษาประเมินสถานการณ์ปัญหาและการละเมิดสิทธิจากกรณีร้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
                  กับโครงการพัฒนาภาคใต้ที่มีต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่ามีการละเมิดและละเลย

                  ความสําคัญของสิทธิของชุมชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้

                         ๑)  สิทธิในการกําหนดอนาคตและเจตจํานงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา


                             จากกรณีศึกษาทั้ง ๔ จังหวัด ชาวบ้านจากกรณีร้องเรียนมีข้อสรุปร่วมกันชัดเจนว่า
                  โครงการพัฒนาภาคใต้เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกกําหนดมาจากองค์กรหรือหน่วยงานระหว่าง

                  ประเทศ และหรือรัฐและหน่วยงานของรัฐในระดับชาติ ซึ่งได้กําหนดออกมาเป็นนโยบายรัฐส่วนกลางที่

                  นํามากําหนดยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาและแผนงานทั้งในระดับชาติ ระดับภาคและระดับจังหวัด โดยมี
                  แผนระดับชาติ ได้แก่ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

                  แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากพลังงาน โครงการท่อพลังงานของกระทรวงพลังงาน

                  แผนพัฒนาระบบโลจิสติกต์ และโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ของกระทรวงคมนาคม
                  โครงการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ําของกรมชลประทาน ฯลฯ ทั้งนี้ถึงแม้ว่าแผนดังกล่าวจะเป็นชุด

                  โครงการขนาดใหญ่ แต่เมื่อโครงการเหล่านั้นได้ลงมาสู่ชุมชนท้องถิ่น ก็จะดําเนินการแยกส่วนตาม

                  หน่วยงานเจ้าของโครงการ รวมทั้งมีการจัดวางวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับภาระรับผิดชอบของ
                  หน่วยงานนั้น ๆ ทําให้ชุมชนท้องถิ่นไม่เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของโครงการเหล่านั้น นอกจากนี้

                  แผนงาน ยุทธศาสตร์ ในระดับชาติเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการกําหนดแผนพัฒนาในระดับจังหวัด อาทิเช่น

                  ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในแผนพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยุทธศาสตร์การส่งเสริม
                  อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ฯลฯ นโยบายแผนงาน

                  และโครงการพัฒนาภาคใต้ดังกล่าวข้างต้น ถูกกําหนดขึ้นจากรัฐส่วนกลางโดยที่ไม่มีประชาชน ชุมชน

                  ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าไปมีส่วนร่วมในการกําหนดและจัดทํา จึงละเลยสิทธิของชาวบ้าน
                  และชุมชนในการกําหนดอนาคตและเจตจํานงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา ส่งผลให้ชะตากรรมและ

                  ชีวิตของท้องถิ่นถูกกําหนดมาจากองค์กรภายนอกทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

                             แต่จากการตื่นตัวในเรื่องสิทธิและพัฒนาการการต่อสู้ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนานของ

                  ชุมชน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกลไกและเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิของชุมชน ทําให้ชาวบ้านในทุกพื้นที่

                  จากทุกกรณีศึกษาในการศึกษาครั้งนี้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิการกําหนดอนาคตแผ่นดินเกิดของตนเอง ซึ่งเป็น
                  สิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดและมีมาก่อนรัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน รวมถึงยืนยันสิทธิบน

                  แผ่นดินที่อยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย คนอื่นหน่วยงานราชการที่มาชั่วครั้งชั่วคราวจะมากําหนดอนาคตแทน

                  ชาวบ้านไม่ได้ และแสดงเจตจํานงอย่างชัดเจนที่จะขอมีส่วนร่วมกําหนดอนาคตของตนเองและชุมชน
                  ท้องถิ่นตนเอง รวมทั้งเรียกร้องสิทธิในการร่วมตรวจสอบเพื่อกํากับให้ชุมชนมีส่วนร่วมกําหนดทิศทาง
   149   150   151   152   153   154   155   156   157   158   159