Page 56 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 56
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 55
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนบทความมุ่งชี้ให้เห็นการสร้างความเป็นอัตบุคคลของเกย์โดยสัมพันธ์กับ
ภาวะกระทําการของเกย์ผ่าน “สปิริต” แบบอัญเพศที่ต่อรองกับโครงสร้างในมาตรฐานของสังคมรักต่างเพศ
โดยมุ่งเสนอว่าตําแหน่งอัตบุคคลและอัตลักษณ์ดังกล่าวประกอบสร้างขึ้นมาจากเพศวิถี ชนชั้น ชุมชน วิถีเมือง
และวาทกรรมพุทธศาสนาที่โยงใยกันอย่างซับซ้อน เป็นที่น่าสังเกตว่านวนิยายชุดนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปรากฏก็
ถือเป็น “หัวเลี้ยว” สําคัญของการสร้างสรรค์วรรณกรรมเกย์ของไทย (เปรม สวนสมุทร, 2548: 5; Jackson,
2006: 599) การศึกษานวนิยายชุดนี้จึงน่าจะทําให้เข้าใจสถานะของชนกลุ่มน้อยทางเพศของไทยในปัจจุบัน
และมองเห็นการปะทะประสานกันของวาทกรรมชุดต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการสร้างสรรค์วรรณกรรม
เกย์ของไทยด้วย
การดิ้นรนของความปรารถนา: ชนชั้นที่สัมพันธ์กับเพศวิถีของชนกลุ่มน้อยทางเพศ
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการสร้างอัตลักษณ์เกย์ในนวนิยายของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์สัมพันธ์กับชนชั้น
ของตัวละคร วีรวัฒน์ได้ประกาศความสําคัญของชนชั้นในนวนิยายของเขาไว้ตอนหนึ่งว่า
‘ซากดอกไม้’ เป็นการนําเสนอเรื่องราวของเกย์ในวังวนของสังคมบุคคลระดับ ‘ไฮโซไซตี’ ชั้นนํา
ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ส่วน ‘ด้ายสีม่วง’ เป็นการดึงเอา ‘ปัญหา’ ของ ‘ชนชั้นกลาง’ ที่เป็น
เกย์ให้ปรากฏภาพเงาและรายละเอียดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และ ‘ห่วงจําแลง’ เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วย
เกย์ชั้นล่าง เกย์ที่มีความยากจนเป็น ‘เงา’ ตาม … โดยมีเราเป็นคนนําพาไปดูว่าพวกเขามีหนทาง
ปีนป่าย เวียนว่ายและดิ้นรนอย่างไร (ห่วงจําแลง, 2551: คํานํา)
นวนิยายชุดนี้ใช้สังคมเมืองเป็นฉาก สาเหตุน่าจะมาจากกลุ่มประชากรที่เป็นคนรักเพศเดียวกันมักถูก
พบเห็นในเขตเมือง ชนบทไม่เอื้อให้คนกลุ่มนี้แสดงออกเนื่องจากชีวิตในชนบทจํากัดอยู่ในความสัมพันธ์ใน
ครัวเรือน การใช้ชีวิตในเมืองจึงเอื้อให้คนรักเพศเดียวกันมีอิสระทางสังคมและเศรษฐกิจ (Bronski, 1998: 54)
เพศวิถีของเกย์จึงมาบรรจบกับชนชั้น อย่างไรก็ตาม งานศึกษาที่ประมวลมาข้างต้นไม่ใคร่จะชี้ให้เห็น
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกับอัตลักษณ์เกย์ ทั้งที่ชนชั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาของตัวละครในเรื่องหลายด้าน
ตัวอย่างเช่นปัญหาเรื่องการเปิดเผยตัวตน ที่อัตลักษณ์เกย์ถูกกดทับด้วยมาตรฐานสังคมรักต่างเพศที่สัมพันธ์
กับจริยธรรมของชนชั้นกลางโดยให้ค่าแก่ความเป็นชายในฐานะผู้ที่ต้องทําหน้าที่ “สืบสกุล” ดังกรณีของ
คเชนทร์ที่ไม่อาจเปิดเผยตัวตนได้เพราะเขาเกรงว่าจะทําให้แม่เสียใจ ทั้งที่การเปิดเผยตัวตนในแต่ละกรณีอาจ
ให้ผลที่แตกต่างกัน การที่คเชนร์ถูกหล่อหลอมและผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมจากสถาบันทางสังคม
ของชนชั้นกลางทําให้เขารู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก