Page 38 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 38
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 37
“ของใหม่วันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นของเก่า แต่ของเก่ายังไงก็ยังเป็นของเก่า”
ผู้เขียนนําเสนอร้านขายของเก่าของพี่มาโนชเพื่อวิพากษ์วัฒนธรรมบริโภคของสังคมเมืองที่ให้
ความสําคัญกับความแปลกใหม่ (innovation) แทนการเก็บรักษา (preservation) การมุ่งเน้นที่ความแปลก
ใหม่ทันสมัยส่งผลให้สิ่งของหรือผู้คนมีอายุใช้งานในเวลาอันสั้น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์หรือ
มนุษย์กับสิ่งของยังมีลักษณะฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน หลงลืมอย่างรวดเร็ว การเดินทางมายังนาครเขษมของตัว
ละครเหล่านี้เนื่องจากพวกเขาถูกแทนที่ด้วยพนักงานที่อายุน้อยกว่า ภายใต้กระแสของการเห่อของใหม่ ตัว
ละครเหล่านี้จึงกลายเป็นคนที่ถูกหลงลืม มีสถานภาพไม่ต่างจากของเก่าที่ชํารุด หรือ หมดอายุ นาครเขษม
ต่างจากโลกภายนอก วัฒนธรรมของการเก็บรักษายังดํารงอยู่ขณะที่โลกภายนอกมุ่งเน้นความแปลกใหม่
ดังนั้นในนาครเขษมสิ่งของไม่ได้เก่าชั่วข้ามคืน หากค่อยแปรเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่ง เน้นให้
เห็นประโยชน์ใช้สอย เมื่อสิ่งหนึ่งหมดประโยชน์แล้วก็สามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้ “ที่นาครเขษม ของอย่าง
หนึ่งมักเคยเป็นของอีกอย่างหนึ่งมาก่อนเสมอ เช่น ก่อนจะมาเป็นกระถางต้นไม้ มันเคยเป็นกระป๋องใส่นมผง
มาก่อน ก่อนจะมาเป็นผ้าขี้ริ้ว มันเคยเป็นเสื้อดีๆ มาก่อน และก่อนจะมาเป็นขวดใส่น้ําปลา มันก็เคยเป็นขวด
เบียร์มาก่อน” (คอยนุช, 2549: 36)
นาครเขษมเป็นสถานที่เก็บรักษาสิ่งที่หลงลืมหรือใช้การไม่ได้ การที่พี่มาโนชไม่เคยออกไปไหนนอก
นาครเขษมทําให้พี่มาโนชไม่มีค่านิยมเห่อของใหม่ พี่มาโนชนิยมแต่ของเก่าโดยมีความเชื่อว่า “ของใหม่วัน
หนึ่งก็ต้องเป็นของเก่า แต่ของเก่ายังไงก็ยังเป็นของเก่า” ร้านขายของเก่าของพี่มาโนชเป็นแหล่งรวบรวม
สิ่งของที่ชํารุดใช้การไม่ได้ ที่ร้านขายของเก่า “มีแป้นพิมพ์ดัดที่ตัว ฟ หายไป มีนาฬิกาที่ไม่มีเลข 9 กับเลข 5
มีหนังสือเก่าที่หน้า 23 หายไปไหนไม่มีใครรู้ มีกีต้าร์ที่สายขาดไป 1 สาย มีสมุดบันทึกที่เขียนไม่จบ มีป้ายชื่อ
ร้านที่ตัว ก ตกหล่นไป....” (คอยนุช, 2549: 9) ของเก่าที่ชํารุดเป็นสัญลักษณ์แทนพนักงานออฟฟิศที่มีอายุ 40
ปีขึ้นไป การเก็บรักษาของเก่าที่ชํารุดของพี่มาโนชเป็นการมองเห็นคุณค่าของผู้คนหรือวัตถุสิ่งของที่เคยทํา
ประโยชน์ให้กับเรามาก่อน แม้ว่าปัจจุบันผู้คนหรือสิ่งเหล่านั้นจะแปรสภาพเป็นของเก่าและไม่สามารถสร้าง
ประโยชน์ให้กับเราก็ตาม ทัศนะคติของพี่มาโนชเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาบาดแผลในจิตใจของชาวนาครเขษมที่ถูก
สังคมตีตราว่าเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่เก่าหมดอายุใช้งานและถูกผลักไสให้มาอยู่ในนาครเขษมแห่งนี้
การจํายอมต่อความอัปยศและการขบถต่อเวลา
ในการเดินทางมายังนาครเขษม ตัวละครที่เคยเป็นพนักงานออฟฟิศต้องการตามหาสิ่งที่สูญหายไปเพื่อ
กอบกู้ตัวตนให้กลับมาเป็น “ปกติ” เหมือนเดิม ความสําคัญของผู้หญิงที่มีฝ้ารูปแผนที่แอฟริกาบนใบหน้าอยู่ที่
เธอทําให้ตัวละครเหล่านี้เลิกหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ตนเองตามหา เมื่อทราบว่าหญิงที่มีฝ้ารูปแอฟริกาหายตัวไปทุก
คนในนาครเขษมต่างละทิ้งสิ่งที่ตนเองหมกมุ่นและช่วยกันตามหาตัวหญิงลึกลับคนดังกล่าว