Page 40 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 40
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 39
“ไม่ว่าคนที่มองจะมีสายตาแบบเด็ก สายตาแบบหนุ่มสาว หรือสายตายาวแบบคนแก่ สายตาทุกคนเท่าเทียม
กันหมดเมื่อมองจากที่สูงๆ” (คอยนุช, 2549: 101)
การปรับเปลี่ยนสํานึกเรื่องเวลายังนําไปสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นที่ไม่อยู่ในกรอบของรักต่างเพศ
เมื่อวิชัยไปนั่งในชิงช้าสวรรค์ เขามีโอกาสเห็นหน้าผู้หญิงที่เขาอยากรู้ทําความรู้จักเมื่อครั้งที่เขาเป็นพนักงาน
ออฟฟิศ การพบปะกันของวิชัยและนภาไม่ได้จบลงด้วยการกลับเข้าสู่ขนบความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ หาก
ทําให้ตัวละครทั้งสองตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งอื่นที่สําคัญมากกว่า การแต่งงานและการมีครอบครัว ผู้เขียน
พูดถึงอวัยวะเพศของคนทั้งสองว่า “นานๆ ครั้งพวกมันกลับมาทําหน้าที่ของมันได้เล็กน้อย ซึ่งวิชัยและนภาก็
ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร เพราะพวกเขารู้ดีว่าอวัยวะเพศของคนอายุ 40 ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการกลับไปหัด
เรียนรู้การทําหน้าที่อวัยวะเพศอีกครั้ง และการนั่งกุมมือมองท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าบนชิงช้าสวรรค์สองต่อสองก็
ทดแทนสิ่งเหล่านี้ได้ดี” (คอยนุช, 2549: 103) ก่อนหน้านี้วิชัยมีอาการวิตกกังวลและนภามีอาการซึมเศร้าเมื่อ
พบว่าตนสูญเสียความเป็นชายหรือความเป็นหญิง การเป็นอิสระจากแนวคิดเวลาในกรอบทุนนิยมช่วยปลด
เปลื้องความรู้สึกหวาดกลัว หดหู่ และซึมเศร้าที่เกิดจากการดําเนินชีวิตภายใต้ระบบทุนนิยม สิ่งที่สังคม
ภายนอกมองว่าล้มเหลว บกพร่อง หรือสูญเสีย กลับกลายเป็นสิ่งไร้ความสําคัญในนาครเขษม คุณนภายังไม่
สนใจว่าแป้นพิมพ์ดีดของเธอจะมี ฟ หรือไม่ “ทุกวันนี้คุณนภากลับมานั่งหันหลังให้วิชัยดู และพิมพ์ดีดด้วย
คอมพิวเตอร์เป็นข้อความซ้ําๆ ว่า แ น แ น แ น แ น...” (คอยนุช, 2549: 103)
การดัดแปลงทางรถไฟให้กลายเป็นชิงช้าสวรรค์ยังนําไปสู่การให้นิยามใหม่แก่ความสูงวัย สังคม
ภายนอกมองความสูงวัยว่าหมายถึงความเสื่อมถอยและความตาย อคติของสังคมได้สร้างความรู้สึกหดหู่และ
วิตกกังวลให้กับบุคคลเมื่อเข้าสู่วัยชรา คนเหล่านี้ดํารงชีวิตอยู่อย่างสิ้นหวัง ไร้อนาคต และโดดเดี่ยวไม่ต่างจาก
ทางรถไฟขึ้นสนิมที่ไม่เคยมีรถไฟวิ่งผ่าน เวลาเป็นวงกลมเหมือนชิงช้าสวรรค์ช่วยให้อดีตหวนกลับมาในปัจจุบัน
ความชราจึงไม่ได้หมายถึงความเสื่อมถอยและความตาย แต่หมายถึงการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง วิชัยค้นพบ
ความหมายใหม่นี้เมื่อเขาย้อนความทรงจํากลับไปในวัยเด็ก “วิชัยคิดว่าอวัยวะทุกชิ้นบนตัวเราเปิดโอกาสให้
เราเป็นเด็กอีกครั้ง การมีอายุ 40 ถือเป็นความโชคดีกว่าตอนอายุ 20 ที่ได้แก้ตัวใหม่ เริ่มหัดทุกอย่างใหม่
หลังจากที่หัดตามคนอื่นสอน และเลือกผิดเลือกถูกมาแล้วโดยไม่รู้ตัว คราวนี้จะได้รู้แน่ๆ ว่า เวลาที่เหลือ
หลังจาก 40 ไปแล้วจะกลับไปเล่นสนุกแบบไหนดี” (คอยนุช, 2549: 89)
การปรับเปลี่ยนจิตสํานึกเวลาจากเส้นตรงมาเป็นวงกลมหรือวัฏจักรเป็นการปฏิเสธความหมายของ
ความสูงวัยที่สังคมมองว่าเป็นความเสื่อมถอยและความตาย ความแก่ชราหมายถึงการกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
แต่ต่างจากเด็กตรงที่ผู้สูงวัยสามารถกําหนดชีวิตของตนเองได้ เปิดโอกาสให้คิดใหม่ ทําใหม่ และมองสิ่งต่างๆ
ใหม่ การกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งของคนสูงอายุยังเป็นการละเมิดขนบการจัดแบ่งประชากรตามวัย คือ วัยเด็ก
วัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ วัยเกษียณ และวัยชรา สังคมกําหนดกรอบเรื่องอายุและกําหนดให้แสดงพฤติกรรมที่
เหมาะสมสอดคล้องกับอายุ วัยเด็กเป็นวัยที่สามารถเล่นสนุก ชิงช้าสวรรค์จึงเป็นของเล่นสําหรับหรับเด็ก