Page 41 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 41
๒๗
๓) กรอบความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย
(Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle หรือ IMT–GT) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกรวม
๓ ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย การพัฒนานี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ใน ๒ เรื่องสําคัญ
คือ (๑) การพัฒนาพื้นที่ชายแดน ๓ ประเทศร่วมกัน ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นความร่วมมือภายใต้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๓ ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน (๒) การจัดการก๊าซธรรมชาติ
ในอ่าวไทยบนบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย (Malaysia–Thailand
Joint Development Area หรือ JDA)
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทยนี้ มีวัตถุประสงค์
เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง ๓ ประเทศร่วมกัน ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และเน้นความร่วมมือ
ทางด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถใน
การแข่งขันให้กับพื้นที่
๔) กรอบความร่วมมือในพื้นที่อ่าวเบงกอล (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral
Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) ประกอบด้วย ๗ ประเทศสมาชิก ได้แก่
ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฏาน สหภาพหม่า และเนปาล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๐
ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย ความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือในพื้นที่อ่าวเบงกอล มี
วัตถุประสงค์ คือ การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความ
เท่าเทียมกัน และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความช่วยเหลือ
ระหว่างประเทศสมาชิก ในรูปของการฝึกอบรม รวมถึงการค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือ
ระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากภาคกสิกรรมและอุตสาหกรรม การขยายการค้าและการลงทุน
ตลอดจนปรับปรุงการสื่อสารและการคมนาคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาค และ
ส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ
๕) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao
Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS) ประกอบด้วย ๕ ประเทศสมาชิก
ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐสังคมคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า
และราชอาณาจักรกัมพูชา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ โดยเป็นแนวคิดริเริ่มในสมัยของ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ดํารงตําแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ มุ่งเน้น
นโยบายการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเจริญอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค
อันส่งเสริมและก่อให้เกิดความเข้มแข็งให้แก่กรอบความร่วมมืออาเซียน ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญที่
จะส่งผลต่อโอกาสและความเป็นไปได้ที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค