Page 37 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 37
บทที่ ๔
แผนพัฒนาภาคใต้
นโยบายที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ และกรณีร้องเรียน
แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือที่เรียกกันว่าแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด (Southern
Seaboard Development Plan: SSB) หรือแผนพัฒนาภาคใต้ เป็นแผนพัฒนาระดับภูมิภาคขนาดใหญ่
ที่มีการผลักดันมาจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และรัฐมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีแนวคิด
สําคัญคือ การพัฒนาภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและพลังงานของภูมิภาค จาก
ปัจจุบันที่เรือขนส่งปิโตรเลียมจากภูมิภาคตะวันออกกลางต้องไปอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาเพื่อไปยัง
ประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้หากว่าประเทศไทยมีการสร้างสะพานยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ
พลังงาน (Strategic Energy Land Bridge) ในภาคใต้ด้วยระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อและระบบ
คมนาคมแบบผสมผสานเชื่อมโยงระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ก็จะเป็นการช่วยย่นระยะทางเดินทาง
และเวลาในการขนส่ง และจะส่งผลให้ภาคใต้ของประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งพลังงานใน
ภูมิภาคนี้ อันจะต่อเนื่องกันมาก็คือการพัฒนาภาคใต้ให้เป็นฐานในการผลิตด้านน้ํามัน ก๊าซธรรมชาติ
และปิโตรเคมีครบวงจร ตลอดจนเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านปิโตรเคมีและพลังงานของ
ภูมิภาค นอกจากนี้การเปิดสะพานเศรษฐกิจยังเป็นการเปิดประตูการค้า (Gateway) ที่ก่อให้เกิดการ
เชื่อมโยงระหว่างประเทศในเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและยุโรป เข้ากับเอเชียตะวันออกและอินโดจีน
การศึกษาเรื่องแผนพัฒนาภาคใต้ จึงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนพัฒนา
ทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๔.๑ ยุทธศาสตร์และแผนงานระดับภูมิภาค
จากแนวคิดที่จะให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางที่สําคัญของโลก จึงทําให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน
รวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจให้เป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน (Single Production Base and Market)
เพื่อเปิดประตูการค้าของภูมิภาคร่วมกัน โดยสร้างข้อตกลงความร่วมมือภายในร่วมกัน ซึ่งในที่นี้จะขอ
กล่าวถึงกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค และแผนงานโครงการสําคัญภายใต้กรอบความร่วมมือ
ดังกล่าวที่ส่งผลต่อการกําหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในการพัฒนาภาคใต้ ดังนี้