Page 48 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 48
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 47
นามตนเอง ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงคนรักต่างเพศผู้มีเพศวิถีไม่สอดรับกับมาตรฐานทางวัฒนธรรมของสถาบันการ
สมรส “ผัวเดียวเมียเดียว” แบบรักต่างเพศ (Glossary of Terms in Gender and Sexuality, 2005: 26)
นัยที่สอง อัญเพศเชื่อมโยงกับ “ทฤษฎีอัญเพศ” (queer theory) อันเป็นทฤษฎีที่พัฒนาในวงการมนุษยศาสตร์
ช่วงกลางทศวรรษ 1980 โดยช่วยเพิ่มพูนความสนใจในเรื่องเพศวิถีผ่านแนวคิดของมิแชล ฟูโกต์ ทฤษฎีนี้หยิบยืม
คําว่า “queer” (มีความหมายว่าพิลึก แปลกประหลาด วิปริต) ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเกย์และเลสเบียนในยุโรป
และสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ ทฤษฎีนี้มุ่งประกาศ “การดํารงอยู่อย่างประจักษ์ชัด” (visibility) ผ่านยุทธวิธีของการ
ยืนยัน “ความเบี่ยงเบน” เพื่อหลอมสร้างกิจกรรมทางการเมือง ท่ามกลางความตื่นตัวเรื่องการระบาดของโรค
เอดส์ คําว่า “queer” เป็นคําที่เคยถูกใช้เป็นคําบริภาษที่สร้างความขุ่นข้องใจ ปัจจุบันคํานี้ถูกนํามาใช้เพื่อโต้
กลับชุดความรู้ที่พ่วงพามากับความหมายดั้งเดิมในพื้นที่สาธารณะ (Pilcher and Whelehan, 2004: 128-129)
ดังนั้นอัญเพศจึงมีความสําคัญในเชิงทฤษฎีและการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองเช่นเดียวกับสตรีนิยม คํานี้มีผู้
บัญญัติเป็นภาษาไทยหลายคํา เช่น ผิดเพศ ลักเพศ เพศที่แตกต่าง เพศแปลกแยก ความเป็นอื่น วิปริตเพศ ฯลฯ
ผู้เขียนบทความใช้คําว่าอัญเพศตามเหตุผลที่ แจ็คสัน (2548: 415-416) ได้ให้ไว้โดยปรุงศัพท์ขึ้นมาจากคําว่า
“เพศที่แตกต่าง” และมโนทัศน์นี้จะมีความสําคัญในการทําความเข้าใจทั้งเกี่ยวกับการสํารวจการดํารงอยู่ของชน
กลุ่มน้อยทางเพศในวรรณกรรม และในการวิเคราะห์ตัวบทที่เป็นข้อมูลในบทความนี้
Jackson (2006: 558-559) เสนอว่าในวรรณกรรมไทย ตัวละครที่แสดงลักษณะแบบ “อัญเพศ”
ปรากฏตั้งแต่บทละครในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ตัวละครเอกมี
ความสัมพันธ์กับคนสนิททั้งชายหญิง งานของสุนทรภู่เองก็แสดงให้เห็นความปรารถนาที่มีต่อเพศเดียวกันของ
ผู้หญิง (female homoeroticism) งานเขียนของคุณสุวรรณที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของ
ผู้หญิงในราชสํานักไทย เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระยาศรีสุนทรโวหารได้นิพนธ์เรื่องอิลราชคําฉันท์ที่
แสดงให้เห็นการกลายร่างของผู้ชายกลายเป็นผู้หญิงด้วยคําสาปของพระศิวะ และสุดท้ายท้าวอิลราชในร่าง
ของนางอิลาก็เป็นชายาของพระพุธในที่สุด
วรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่เริ่มต้นให้ความสนใจแนวเรื่องเกี่ยวกับอัญเพศนั้นเริ่มในยุคหลัง
สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ป.อินทรปาลิต เขียนเรื่องเกี่ยวกับกะเทยจํานวนมาก เช่น ลักเพศ (2490) นาง
กะเทย (2493) กะเทยสาว (2498) ชาวเกย์ (2511) เพื่อสร้างรายได้ให้มากที่สุด นักประพันธ์ไทยเขียน
นวนิยายที่มีแนวเรื่องเกี่ยวกับอัญเพศเป็นตอนลงในนิตยสาร และต่อมาได้พิมพ์รวมเล่ม เช่น งานเขียนของ
กฤษณา อโศกสิน เธอเป็นนักประพันธ์สตรีที่นิยมเขียนนวนิยายรักคนแรกที่ให้ความสนใจแนวเรื่องเกี่ยวกับ
เกย์ เลสเบียน และคนข้ามเพศ เช่นเรื่อง บัลลังก์ใยบัว (ตีพิมพ์เป็นตอนระหว่าง 2514-2515) ประตูที่ปิดตาย
(ตีพิมพ์เป็นตอนระหว่าง 2517-2518) รูปทอง (ตีพิมพ์เป็นตอนระหว่าง 2530-2531) อย่างไรก็ตาม งานเขียน