Page 46 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 46

นัทธนัย ประสานนาม









                     บทคัดย่อ

                            บทความนี้มุ่งศึกษาชนกลุ่มน้อยทางเพศในนวนิยายไตรภาคของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์เรื่อง ซาก
                     ดอกไม้ ด้ายสีม่วง และ ห่วงจําแลง ที่เขียนขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2538-2551 อันเป็นระยะเวลาที่มีความ

                     เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมเกิดขึ้นในสังคมไทย และเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ของกลุ่มอัญเพศ
                     ผลการศึกษาพบว่านวนิยายชุดนี้มีลักษณะเป็น “ตัวบทแบบอัญเพศ” ผู้เขียนแสดงให้เห็นเพศวิถีของเกย์ใน

                     ฐานะชนกลุ่มน้อยทางเพศโดยเชื่อมโยงกับชนชั้น การเมืองเรื่องความสําส่อนถูกนํามาใช้เพื่อยืนยันอัตลักษณ์
                     เกย์ และแสดงนัยความหมายทางการเมืองแบบอัญเพศผ่านวัฒนธรรมการหาคู่นอน/คนรัก อารมณ์ปรารถนา

                     และความลื่นไหลของเพศวิถีที่ล้วนวิพากษ์และท้าทายมาตรฐานของสังคมรักต่างเพศ ส่วนวาทกรรมพุทธ
                     ศาสนาถูกผสานเข้ามาเพื่อชี้ให้เห็นภาวะสมมติของสิ่งทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นการเสนอทางเลือก

                     หนึ่งของการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในบริบทไทยที่นําไปสู่การสลายอัตลักษณ์  ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความทุกข์เป็น
                     สมบัติร่วมของมนุษยชาติ มนุษย์ทุกเพศต้องเผชิญความทุกข์และน่าจะมีศักยภาพในการพ้นทุกข์ได้เสมอกัน
                     การปะทะประสานกันของวาทกรรมชุดต่างๆ เผยแสดงให้เห็นอัตลักษณ์เกย์ไทยในฐานะ “ภาพประกอบส่วน”

                     ที่หลากหลาย ย้อนแย้ง และผูกผันกับบริบทเฉพาะของสังคม
   41   42   43   44   45   46   47   48   49   50   51