Page 13 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 13
12 แดศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน
ในภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า ถ้าพิจารณาจากมิติด้านสิทธิทางวัฒนธรรมมีประเด็นที่กล่าวถึงกันหลาย
ประเด็น ตัวอย่างเช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน วัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ชุมชนทางวัฒนธรรม เสรีภาพในการ
แสดงออกทางวัฒนธรรม เป็นต้น
ความหมายของสิทธิมนุษยชนในมิติวัฒนธรรม
คําว่าสิทธิทางวัฒนธรรมตามปฏิญญาว่าด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ประกาศเมื่อปี 2007
ที่ Fribourg นอกจากจะหมายถึงสิทธิด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังรวมถึง
เสรีภาพที่จะมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้ คนเราอาจมีสํานึกร่วมทางวัฒนธรรมกับ
ชุมชนทางวัฒนธรรมมากกว่าหนึ่งแห่ง และมีโอกาสเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมและวิถีชีวิตของหลาย
วัฒนธรรม วัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงเฉพาะผลงานศิลปวัฒนธรรม สิ่งประดิษฐ์ วิถีชีวิต หรือขนบธรรมเนียม
ประเพณี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีดั้งเดิม หรือสมัยใหม่ และวัฒนธรรมไม่จําเป็นต้องผูกโยงกับชาติพันธุ์ หรือ
ศาสนาความเชื่อ
Arjun Appadurai (1996) เป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าเดิมที่นิยามความหมายของ
วัฒนธรรมมักเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษานั้น ในสังคมปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว การ
เคลื่อนย้ายของผู้คนทําให้เกิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ผู้คนเรียนรู้และสามารถพูดได้หลายภาษา มี
การหยิบยืมวัฒนธรรมทั้งในรูปของเครื่องมือเครื่องใช้ ศิลปวัฒนธรรม อาหาร และวิถีชีวิต ก่อนหน้านี้
วัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่สามารถครอบงําและกดทับวัฒนธรรมของคนชายขอบหรือชนกลุ่มน้อย ในยุคล่า
อาณานิคมของมหาอํานาจตะวันตก โลกาภิวัตน์และการขยายตัวของทุนทําให้เกิดการเอาเปรียบและสร้าง
ความไม่เป็นธรรมทางสังคม เมื่อกระแสต้านโลกาภิวัตน์มีพลังเพิ่มมากขึ้น เกิดกระแสท้องถิ่นนิยม และการ
ฟื้นฟูวัฒนธรรมพื้นบ้าน ประกอบกับการตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากมิติ
วัฒนธรรมจึงได้รับความสนใจ
การมองเรื่องสิทธิมนุษยชนจากมิติวัฒนธรรม
ดังได้กล่าวแล้วว่า อนุสัญญา ปฏิญญา และเอกสารของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
ในมิติวัฒนธรรม มีหลายหัวข้อ หลายประเด็นมาก ในบทความนี้จะขอเลือกพิจารณาเฉพาะบางประเด็นที่
สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยเท่านั้น