Page 52 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 52
๓๘
๔.๒.๒ ยุทธศาสตร์และแผนงานการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย
แนวสะพานเศรษฐกิจปากบารา-สงขลา
และการพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้ถูกกําหนดไว้เป็นวาระ
แห่งชาติที่มีความสําคัญและความเร่งด่วนต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ต่อมาในปี
พ.ศ. ๒๕๕๐ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔ ที่จัดทําโดยสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมี
วิสัยทัศน์ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของภูมิภาคอินโดจีน โดยพัฒนาให้มี
ระบบโลจิสติกส์ที่มีมาตรฐานสากล (World Class Logistics) สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ
สังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ ที่กําหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการในภูมิภาคอาเซียน
และอนุภูมิภาค (GMS, IMT-GT, ACMECS, BIMSTEC) โดยเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์
รวมทั้งพัฒนาการลงทุนตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic corridors) และพัฒนาเศรษฐกิจ
ตามแนวชายแดน
กระทรวงคมนาคม ได้จัดทําแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงเพื่อสนับสนุนการพัฒนา
โลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ โดยได้กําหนดแนวการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์
ของประเทศไทยภายใต้กรอบความร่วมมือของภูมิภาค มี ๖ แนว (รูปภาพที่ ๘) ประกอบด้วย (๑) แนว
เหนือ-ใต้-ปากบารา (๒) แนวหนองคาย-แหลมฉบัง (๓) แนวตะวันออก-ตะวันตก (๔) แนวลาดกระบัง-
แหลมฉบัง (๕) แนวสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ๑ แนวทวาย-แหลมฉบัง-อรัญประเทศ (๖) แนว
สะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ๒ แนวปากบารา-สงขลา รวมถึงโครงข่ายการพัฒนาถนน การขนส่ง
ทางรถไฟ และการขนส่งชายฝั่ง จากแผนงานดังกล่าวส่งผลให้มีโครงการขยายถนนมอเตอร์เวย์เพื่อ
รองรับโครงข่ายทางหลวงอาเซียน การพัฒนาการขนส่งรถไฟรางคู่ และการพัฒนาการขนส่งทางชายฝั่ง
สําหรับโครงการที่สัมพันธ์กับแผนพัฒนาภาคใต้ที่ถูกผลักดันภายใต้ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์
ของกระทรวงคมนาคมก็คือ แนวสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ปากบารา-สงขลา ที่ประกอบไปด้วย
ท่าเรือน้ําลึกปากบารา ท่าเรือน้ําลึกสงขลา ๒ และเส้นทางรถไฟรางคู่สตูล-สงขลา การขยายเส้นทาง
ถนนสี่เลนและรถไฟรางคู่ การพัฒนาการขนส่งทางชายฝั่ง โดยพัฒนาท่าเรือตรัง ชุมพร และระนอง