Page 121 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 121
๑๐๗
ชายฝั่ง มาช่วยในการคุ้มครองพื้นที่แหล่งอาหาร ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตําบลท่าศาลา จังหวัด
นครศรีธรรมราช เป็นองค์การบริหารส่วนตําบลแรกของประเทศไทยที่ได้ประกาศข้อบัญญัติท้องถิ่นทาง
ทะเล ภายใต้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เรื่อง “การอนุรักษ์และใช้
ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน ปี ๒๕๕๒” ปัจจุบันได้มีการเชื่อมโยงกันอย่างเข้มแข็งเป็นกลุ่ม
ของคนรักบ้านเกิดที่อยู่ระหว่างการจัดทําธรรมนูญชุมชนและกติกาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น
๓) เมืองที่พึ่งตนเองและยั่งยืนบนฐานเศรษฐกิจที่หลากหลายประเภท จังหวัด
นครศรีธรรมราช มีจํานวนประชากร ๑.๗๑ ล้านคน รวมพื้นที่ ๔.๒๑ ล้านไร่ ซึ่งร้อยละ ๔๙ เป็นพื้นที่
การเกษตร เศรษฐกิจของจังหวัดตั้งอยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจ ๖ ประเภท ประกอบไปด้วย เกษตร
อุตสาหกรรม เหมืองแร่ การขนส่งและการขายปลีก การบริหารราชการ และอื่น ๆ เช่นเดียวกับ
ฐานเศรษฐกิจของจังหวัดระยองในอดีต แต่แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ผ่านมาทําให้เศรษฐกิจ
ของจังหวัดระยองปัจจุบันเหลือตั้งอยู่บนฐานของเศรษฐกิจประเภทเดียว คือ อุตสาหกรรม ซึ่งในการ
พัฒนาบนฐานเศรษฐกิจประเภทเดียวจะมีความเสี่ยงมากกว่าและยั่งยืนน้อยกว่าการพัฒนาด้วย
ฐานเศรษฐกิจหลายประเภท ดังนั้นหลักการพัฒนาเมืองนครศรีธรรมราชต้องยั่งยืนและเป็นธรรม เหมือน
การสานเสื่อต้องมาถักทอคล้องกันพอดี เป็นศิลปะถักทอกันอย่างลงตัว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พอประมาณ มีความรู้ คุณธรรม มีเหตุผล สมานฉันท์
๔) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อการพึ่งตนเองของเมือง ศักยภาพของจังหวัด
นครศรีธรรมราชในด้านพลังงานหมุนเวียนมีอยู่หลายประเภท เช่น พลังงานลม พลังงานจากชีวมวลที่มี
ขนาดเล็ก ๐.๕-๑ เมกะวัตต์ ฯลฯ ซึ่งควรได้รับการพัฒนาเป็นพลังงานของเมือง ไม่ใช่มาสร้างโรงไฟฟ้า
ถ่านหินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อไปป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม
๕.๓. กรณีศึกษาจากกรณีร้องเรียนจังหวัดสงขลา
๕.๓.๑ สงขลาเมืองอุตสาหกรรมหนักชายแดนและสะพานเศรษฐกิจพลังงานฝั่งอ่าวไทย
สงขลาได้เริ่มถูกกําหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมชายแดนนับตั้งแต่เริ่มมีการ
พัฒนาพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อพัฒนาพื้นที่
ชายแดนและพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่องภายใต้โครงการสะพานเศรษฐกิจ สงขลา-ปีนัง-เมดาน ซึ่งเป็นผล
มาจากการศึกษาขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA) โดยที่ได้มีแผนพัฒนาโครงสร้าง
พื้นฐานในการเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งโครงข่ายถนน ทางรถไฟ ทางทะเล ทางอากาศ ท่อก๊าซ ท่อน้ํามัน
พลังงานไฟฟ้า การพัฒนาอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร รวมถึงการพัฒนาด้านการค้าและการตลาดเสรี
(Open Market Operation) และหากผนวกรวมโครงการสะพานเศรษฐกิจปากบารา-สงขลา ที่ทําการ