Page 41 - รวมพระราชบัญญัติ ระเบียบ และแนวปฏิบัติ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับพกพา)
P. 41
๓๕
หน้า ๗
เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๑๙๙ ง ราชกิจจานุเบกษา ๖ กันยายน ๒๕๕๙
ส่วนที่ ๓
การพ้นจากหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ย
ข้อ ๑๖ ให้ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นจากหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับมอบหมายในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ไกล่เกลี่ยขอถอนตัว
(๒) คณะกรรมการมีคําสั่งให้ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นจากหน้าที่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า
(ก) มีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางในการทําหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย
(ข) ผู้ไกล่เกลี่ยบกพร่องต่อหน้าที่หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ย
(ค) ผู้ไกล่เกลี่ยประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่การเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
(ง) ผู้ไกล่เกลี่ยกระทําการหรือละเว้นกระทําการตามหน้าที่ของผู้ไกล่เกลี่ยโดยจงใจ
หรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้คู่กรณีเสียหาย
(จ) ผู้ไกล่เกลี่ยกระทําผิดหรือฝ่าฝืนต่อจริยธรรมของผู้ไกล่เกลี่ยตามข้อ ๓๗
ข้อ ๑๗ ในกรณีที่ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นจากหน้าที่ตามข้อ ๑๖ คณะกรรมการอาจมีคําสั่งให้กระบวนการ
ไกล่เกลี่ยสิ้นสุดลงหรือมอบหมายผู้ไกล่เกลี่ยคนใหม่ให้ทําหน้าที่ก็ได้
ส่วนที่ ๔
กระบวนการไกล่เกลี่ย
ข้อ ๑๘ เมื่อได้รับมอบหมายให้ไกล่เกลี่ยในเรื่องใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยศึกษาเอกสารหรือข้อเท็จจริง
ในคําร้องและคําชี้แจงของคู่กรณีเพื่อประโยชน์ในการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ การรับส่งเอกสารคําร้อง คําชี้แจง
ของคู่กรณี หรือการประสานงานใด ๆ ให้เป็นไปตามที่สํานักงานกําหนด
ข้อ ๑๙ คู่กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาพึงเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยด้วยตนเอง เว้นแต่มีเหตุจําเป็น
คู่กรณีนั้นอาจแต่งตั้งตัวแทนที่มีอํานาจตัดสินใจและทําข้อตกลงเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยก็ได้
ให้คู่กรณีที่เป็นนิติบุคคลหรือองค์กรอื่นแต่งตั้งตัวแทนที่มีอํานาจตัดสินใจและทําข้อตกลงระหว่าง
คู่กรณีเข้าร่วมการไกล่เกลี่ย โดยทําเป็นหนังสือมอบอํานาจส่งต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยหรือเจ้าหน้าที่
ที่ได้รับมอบหมาย เว้นแต่จะได้แต่งตั้งผู้มีอํานาจตัดสินใจและทําข้อตกลงระหว่างคู่กรณีไว้ในคําร้องแล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้รับหนังสือแต่งตั้งตัวแทนแล้ว
ให้ตรวจสอบความถูกต้องของผู้มอบอํานาจและผู้รับมอบอํานาจและขอบเขตอํานาจที่ได้รับมอบ ในกรณีที่
หนังสือมอบอํานาจมีข้อบกพร่องหรือมีข้อจํากัดเกี่ยวกับขอบเขตอํานาจที่ได้รับมอบ ให้แจ้งให้ผู้ไกล่เกลี่ยทราบ
ข้อ ๒๐ ในกรณีที่คู่กรณีมิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ผู้ไกล่เกลี่ยอาจกําหนดขั้นตอนหรือแนวทาง
ในการดําเนินการไกล่เกลี่ยตามที่เห็นสมควร โดยคํานึงถึงกรอบของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พฤติการณ์
แห่งข้อพิพาท ความประสงค์ของคู่กรณี การปฏิบัติต่อคู่กรณีอย่างเป็นธรรมและความต้องการที่จะระงับ
ข้อพิพาทด้วยความรวดเร็ว