Page 31 - โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง สิทธิชุมชนและผลกระทบโครงการพัฒนาภาคใต้
P. 31
๑๗
สิทธิในการสื่อสาร นับเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในอันที่จะช่วยให้บุคคลและชุมชน
สามารถเลือกที่จะคิดและเชื่อในเรื่องศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ แบบอย่างการดําเนินชีวิต การรักษา
เอกลักษณ์และความหลากหลายทางภาษาและศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิอัน
ชอบธรรมที่จะดํารงความเชื่อของตนไว้ด้วยการสื่อสารถ่ายทอดความคิดความเชื่อของตนออกไป ซึ่งย่อม
หมายความว่าต้องเข้าถึงทรัพยากรด้านการสื่อสารได้อย่างเสมอภาค คือมีสิทธิเข้าถึง มีความรู้
ความสามารถในการใช้ และมีโอกาสทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกันที่จะใช้สื่อทั้งหลายเพื่อแสดงและยืนยัน
ความคิดเห็นของตน หรือโต้แย้งแสดงเหตุผลกับฝ่ายที่เห็นแตกต่าง
๓.๒.๖ สิทธิการชุมนุมโดยสงบ
แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นวิธีการหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ความต้องการ หรือ
จุดยืนในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการสื่อสารและเป็นรูปแบบหนึ่งของเสรีภาพในการ
แสดงความเห็น แต่โดยเนื้อหาแล้วสิทธิการชุมนุมเป็นรูปแบบการแสดงออกที่เข้มข้นและมีนัยทาง
การเมืองสูง สิทธินี้จึงได้การระบุแยกออกมาเฉพาะเจาะจง ทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่ง
สหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยในส่วนของ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UDHR) กําหนดให้มีการรับรองทั้งเสรีภาพใน
การชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ ขณะเดียวกันก็ให้การคุ้มครองมิให้บุคคลต้องถูกบังคับเพื่อการ
ดังกล่าว ส่วนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มีการกําหนด
เพิ่มเติมในส่วนของเงื่อนไขที่จะจํากัดตัดทอนการใช้สิทธินี้ในกรณีที่มีข้อกฎหมายและมีความจําเป็นเพื่อ
ผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข
หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
๓.๓ สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาภาคใต้
๓.๓.๑ บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการกําหนดอนาคตและเจตจํานงของตนเอง
และสิทธิในการพัฒนา
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ไม่มีบทบัญญัติโดยตรงด้าน
สิทธิในการกําหนดอนาคตและเจตจํานงของตนเองและสิทธิในการพัฒนา แต่สิทธิเหล่านี้ได้รับการ
รับรองผนวกไว้กับสิทธิด้านอื่น ๆ ในมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้