Page 6 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 6

ผู้เขียนบทความใช้ทฤษฎี “performativity” ของจูดิธ บัทเลอร์ นักคิดสายเพศสถานะศึกษาคนสําคัญ
                     ของโลก เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในเรื่องที่ปรากฏในฐานะการสวมบทบาทที่สับเปลี่ยนได้และไม่

                     มีความตายตัวอันเป็นการท้าทายมายาคติที่มาจากวัฒนธรรมหลักของสังคม

                            ในการควบคุมทางสังคม โทษประหารชีวิตเป็นประดิษฐการทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในหลาย

                     สังคม ในสังคมฝรั่งเศสคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเด็นเรื่องการประหารชีวิตเป็นสิ่งที่นักคิดนักเขียนหยิบ
                     ยกมาพูดอย่างจริงจัง อาจารย์วันรัก สุวรรณวัฒนาได้เสนอบทความเรื่อง “วิวาทะโทษประหารชีวิตใน

                     ฝรั่งเศส: ว่าด้วยเรื่องกิโยติน (Réflexions sur la guillotine)”  ผู้เขียนบทความเสนอว่าโทษสูงสุดนี้

                     ไม่ได้ทําหน้าที่ในการเป็นเครื่องมือลดแรงจูงใจในการกระทําผิดของคนในสังคม ทั้งยังถูกทําให้
                     ชอบธรรมผ่านมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์และทางอุดมการณ์ทางการเมือง


                            ในบรรดาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของสังคม สงครามเป็นเหตุที่
                     ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายระดับ อาจารย์พรรณทิภา ชื่นชาติได้เสนอประเด็นนี้ไว้ใน

                     บทความเรื่อง “เสียงสะท้อนเหนือหลุมฝังศพ: สงครามโลกครั้งที่ 2 ในกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่” ผู้เขียน
                     บทความเสนอว่าหน้าที่ของกวีนิพนธ์ไทยในการนําเสนอภาพสงครามโลกครั้งที่ 2 คือช่องทางในการ

                     แสดงทัศนวิจารณ์ของกวี และกระบอกเสียงบอกเล่าประสบการณ์ของผู้สูญเสีย ลักษณะของกวีนิพนธ์

                     ไทยสมัยใหม่ในช่วงนี้จึงสอดคล้องกับลักษณะของกวีนิพนธ์สงคราม (war  poetry)  ตามการคลี่คลาย
                     ของนัยความหมายในบริบทตะวันตก


                            บทความเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเร่งด่วนใน
                     ปัจจุบัน บทความเรื่อง “คนกับป่า: ปัญหาเรื่องสิทธิการจัดการทรัพยากรในวรรณกรรมของวัธนา บุญยัง”

                     ของอาจารย์กฤตยา ณ หนองคาย เสนอแนวการอ่านด้วยวรรณกรรมวิจารณ์เชิงนิเวศ (ecocriticism)
                     อันเป็นแนวการวิจารณ์ที่ไม่แพร่หลายเท่าใดนักในวงวิชาการไทย ผู้เขียนบทความเสนอว่าวัธนาวิพากษ์

                     ปัญหาเรื่องสิทธิชุมชนหรือสิทธิการจัดการทรัพยากรผ่านบทบาทของพรานทั้งในฐานะผู้รู้และผู้ล่า

                     นอกจากนั้นวัธนายังใช้ฉากธรรมชาติอันงดงามแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างคนกับป่า
                     อีกด้วย


                            เนื้อหาของบทความทั้งหมดที่ประมวลมาอาจมิได้ครอบคลุมประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน
                     ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในโลก แต่น่าจะแสดงให้เห็น “สปิริต” ของนักเขียนที่ยังคงพยายามรักษาพันธกิจของ

                     ตนเองที่มีต่อสังคม นอกจากนั้น น่าจะชี้ให้เห็นศักยภาพของวรรณกรรมในการ “เข้ารหัส”  มายาคติ
                     ต่างๆ ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งศักยภาพของวรรณกรรมใน

                     การท้าทายหรือรื้อถอนมายาคติเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
   1   2   3   4   5   6   7   8   9   10   11