Page 54 - แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทุกชั้นชน : วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา
P. 54
วรรณกรรมกับสิทธิมนุษยชนศึกษา 53
เปรม สวนสมุทร (2548) เสนอบทความเรื่อง “ถ้าเกย์ไม่อยู่กับเกย์แล้วเกย์จะอยู่กับใคร: การศึกษา
ภาพลักษณ์ของตัวละครที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศและตัวละครแวดล้อมในนวนิยายของชายชาวดอกไม้
ยุคปัจจุบัน” ผู้เสนอบทความนําเสนอภาพลักษณ์ และลีลาชีวิตของเกย์จากนวนิยายที่ประพันธ์หลัง พ.ศ.
2540 จํานวน 5 เรื่อง ในกลุ่มข้อมูลมี ซากดอกไม้ และ ด้ายสีม่วง รวมอยู่ด้วย เปรมเสนอในท้ายที่สุดว่า
นวนิยายกลุ่มนี้ช่วยทําให้ “คนนอก” ได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของชนกลุ่มน้อยทางเพศ ปัญหาที่
เกิดจากการล่มสลายของสถาบันครอบครัว และหน้าที่ของนวนิยายกลุ่มนี้ที่ช่วย “เตือนภัย” ให้แก่กลุ่มเกย์
และผู้อ่าน
วิทยา พุ่มยิ้ม (2550) เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “ภาพแทนของชายรักร่วมเพศในวรรณกรรมไทย พ.ศ.
2544-2548” ผู้วิจัยเลือกวรรณกรรมทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดีที่นําเสนอเรื่องชายรักชาย ในกลุ่ม
ข้อมูลมีนวนิยายเรื่อง ด้ายสีม่วง รวมอยู่ด้วย ผู้วิจัยพบว่าโครงเรื่องในบันเทิงคดีเป็นการแสวงหาตัวตนของเกย์
โดยลงเอยที่การยอมรับเพศสถานะของตน และปมปัญหาสําคัญของเรื่องส่วนใหญ่เกิดระหว่างความสัมพันธ์ที่
ฉาบฉวยกับความปรารถนาที่จะมีรักที่มั่นคง นอกจากนั้นวรรณกรรมกลุ่มนี้ยังมีจุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งคือ
เพื่อให้สังคมยอมรับกลุ่มเกย์มากขึ้นและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
งานวิจัยที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เลือกใช้มโนทัศน์ที่แตกต่างกันในการอ่านนวนิยายของวีรวัฒน์
กนกนุเคราะห์ ดังที่ได้กล่าวแล้วว่างานของสมเกียรติและอรรถวุฒิเลือกมองผ่านกรอบของสัจนิยม ส่วนงาน
ของวิทยาจะมองผ่านคตินิยมการประกอบสร้างทางสังคม (social constructionism) อันอยู่ในกระบวนทัศน์
หลังสมัยใหม่ ความเห็นที่ผู้ศึกษาแต่ละคนเสนอไว้ยังอาจอภิปรายโต้แย้งได้และยังมี “ช่องว่าง” ที่ยังรอการ
เปิดประเด็นใหม่ๆ ได้ดังนี้
ผลการศึกษาของสมเกียรติ อรรถวุฒิ เปรม และวิทยา ชี้ให้เห็นว่านวนิยายของวีรวัฒน์นี้ทําหน้าที่ใน
การให้ความรู้แก่สังคม เพื่อให้เข้าใจการมีอยู่ของเกย์ในฐานะชนกลุ่มน้อยทางเพศ แต่งานศึกษาทั้งหมดยัง
4
ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเกย์ในนวนิยายของวีรวัฒน์ได้สร้างตนเองให้กลายเป็นอัตบุคคล (subject) อย่างไร โดย
เฉพาะงานของเปรม ที่แม้จะชี้ว่าวรรณกรรมเกย์ในช่วงที่เขาศึกษา “นําเสนอภาพอีกด้านหนึ่งของเกย์ในฐานะ
ที่เป็นผู้ ‘ทํา’ กับสังคม ไม่ใช่ภาพที่เกย์ถูกสังคม ‘ทํา’” (เปรม สวนสมุทร, 2548: 3) ก็ตาม ก่อนที่จะเสนอ
4 อัตบุคคล (subject) เดิมหมายถึงบุคคลผู้เป็นนายของตัวเอง มีเจตจํานงเสรี มีเหตุผล และมีศักยภาพที่จะกระทํา
การเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและผู้อื่น อันสืบทอดมาจากปรัชญามนุษยนิยม อัตบุคคลจึงสัมพันธ์กับสารัตถนิยม
(essentialism) ที่เชื่อว่าความเป็นอัตบุคคลเป็นแก่นแท้ในตัวมนุษย์ ในกระแสความคิดยุคหลังโครงสร้างนิยม คําว่า
ความสามารถกระทําการ (agency) และ ผู้กระทําการ (agent) เป็นคําที่เข้ามาแทนที่ ในบางกรณีอาจใช้คําว่า ตําแหน่ง
อัตบุคคล (subject-position) เพื่อแสดงการตั้งตนเป็นอัตบุคคลชั่วคราวในบริบทของการกระทําหนึ่งๆ ในที่นี้ผู้เขียนบทความ
จะใช้คําว่าอัตบุคคลกับผู้กระทําการในความหมายที่แทนกันได้ เนื่องจากในวรรณกรรม ภาพจําลองของบุคคลเป็นสิ่งที่
ประกอบสร้างจากดัชนีบ่งชี้ทางสัญศาสตร์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ (เสนาะ เจริญพร, 2548: 303).